เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2566

คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP : Conference of Parties) กับการรับมือ “โลกรวน”
“คอป” (COP) เวทีที่ฝากความหวัง พังงาเรือหลบภูเขาน้ำแข็ง

ภาวะ “โลกรวน” ซึ่งหมายความถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้ผืนดิน ผืนน้ำ ห้วงมหาสมุทร ตลอดจนลมฟ้าอากาศ และฤดูกาล ที่ผู้คนเคยเข้าใจและรู้จัก แปรเปลี่ยนและรวนไป

ชะตากรรมความ “รวน” ของภูมิอากาศที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญและพยายามเบี่ยงหลบความหายนะขนาดมหึมาที่กำลังปรากฏอยู่เบื้องหน้า อาจไม่ต่างไปจากภาพมหานาวาอย่าง “ไททานิค” ที่ค่อยๆ แล่นและพยายามเอี้ยวหลบภูเขาน้ำแข็งที่ตั้งตระหง่านข้างหน้า

และแม้จะหมุนพังงาเรือให้รวดเร็วอย่างไรก็ไม่อาจหลบพ้นวิบัติภัยได้ฉับพลันอย่างใจนึก เพราะความอืดจากขนาดของปัญหาที่สั่งสมมานานและการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทั้งโลก ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วแบบหักพวงมาลัยของรถสปอร์ต

การประชุมรัฐภาคีสมาชิก (Conference of Parties: COP) ซึ่งเป็นการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่ขณะนี้ทำหน้าที่กำกับ และขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ รวมทั้งการทำงานร่วมกันของภาคีทั่วโลก ก็กำลังอยู่ในบทบาทของพังงามหานาวาโลกอันนั้น ที่แม้จะหมุนให้เร็วสุดกำลังอย่างไร ก็หวังได้เพียงแค่ให้ความหายนะเกิดน้อยที่สุด

COP เป็นเวทีที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างนานยาว ซึ่งหากนับตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ (United Nations Scientific Conference) ด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรครั้งแรกในพ.ศ. 2492 ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 70 ปี การประชุมครั้งล่าสุดเป็นการประชุมครั้งที่ 27 (COP 27) จัดขึ้นที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 มีผู้นำจาก 92 ประเทศ ผู้แทนจากกว่า 190 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 35,000 คน

ย้อนกลับไปถึงการประชุม คอป 21 เมื่อพ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015) ที่ผู้นำภาคีสมาชิกทั้ง 196 ประเทศร่วมกันลงนามใน “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการพยายามจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียสภายใน พ.ศ.2643 (ค.ศ.2100) แต่เป้าหมายในอุดมคติที่ต้องการจะเห็นคือ เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และกำหนดไว้ว่าในเวที คอป 26 ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่  31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) ประเทศต่าง ๆ จะต้องเสนอแผนปฏิบัติการของตัวเอง เพื่อบอกว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คอป 26 จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการทบทวนแผนการทำงานของแต่ละประเทศ ทำให้การประชุมมีน้ำหนักในการสร้างแรงผลักดันต่อแผนการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศโลกเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในที่ประชุม คอป 26 ได้กระตุ้นให้ทั่วโลกเห็นว่าหาก “ไม่ทำอะไรเลย” โลกอาจจะถึงขั้นรับมือกับภาวะวิกฤตทางสภาพอากาศไม่ไหว โดยจากรายงานสภาพอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ระบุว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ มนุษย์จึงแทบไม่เหลือเวลาที่จะป้องกันตัวเองจากหายนะที่จะเกิดขึ้นอีกแล้ว จึงทำให้เกิดการตื่นตัวของทั่วโลกในการหันมาตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหา

ประเทศต่างๆ ได้แถลงคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ สหรัฐอเมริกาแถลงว่าภายในพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) หรือในอีก 8 ปีข้างหน้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50-52 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) หรืออีกเกือบ 30 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐ1 ส่วนอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศมาเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีน และสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาประกาศเป็นครั้งแรกว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในพ.ศ. 2613 (ค.ศ. 2070) โดยในพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จะเปลี่ยนมาผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 50 ของประเทศ และลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 1,000 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า (Mt-CO2-eq)2

สำหรับประเทศไทย ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 ว่าพร้อมที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในพ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในพ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) และจะยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกระหว่างพ.ศ. 2564 – 2573 จากเดิมร้อยละ 20 - 25 ให้เป็นร้อยละ 40 ให้ได้ นอกจากนี้ ไทยยังมีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อให้การดำเนินเศรษฐกิจไม่ทำลายระบบนิเวศอีกด้วย3

อย่างไรก็ดี การให้คำมั่นสัญญาในเวที COP เป็นความสมัครใจและการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ไม่ได้มีกระบวนการติดตามหรือลงโทษต่อประเทศที่ไม่ทำตามสัญญา การจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับความจริงจังของนโยบาย การปฏิบัติและการมีส่วนร่วมของประเทศนั้น ๆ เมื่อสิ้นสุดการประชุม COP แต่ละครั้งโลกก็คงต้องรอด้วยความหวังจากความจริงใจและความจริงจังในการทำตามสัญญาของนานาประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย

เป้าหมายที่ไทยให้ไว้ในการประชุม COP เป็นทั้งความท้าทายและแรงกดดันต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพราะหากไม่ร่วมกันดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ และเอาจริงเอาจัง ก็คงจะยากแม้แต่จะเฉียดเป้าหมาย

เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2566 นี้ จึงนำเสนอสภาพความ “รวน” ของโลก และของประเทศไทยในปัจจุบัน ความเป็นมาของเป้าหมายการช่วยกันลดอุณหภูมิของโลกและมาตรการต่างๆ รวมทั้งแผนการ และการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

 


Related Topics :
เรื่องพิเศษประจำฉบับ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333