สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานโครงการรายงานสุขภาพคนไทย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2546 อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี โดยโครงการนี้สอดคล้องกับแผนหลักของ สสส. โดยเฉพาะแผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในการบริหารจัดการข้อมูล องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพสู่นักสร้างเสริมสุขภาพ และประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารายงานสุขภาพคนไทย มีบทบาทในการนำเสนอข้อมูล สถานการณ์ และประเด็นสำคัญด้านสุขภาพ โดยข้อมูลและองค์ความรู้ทำหน้าที่ในการชี้ประเด็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำข้อมูลไปเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางนโยบายในอนาคต รายงานสุขภาพคนไทยได้รับการตอบรับอย่างดี จากหน่วยงานต่าง ๆ นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง
รายงานสุขภาพคนไทยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนตัวชี้วัดสุขภาพ 2) ส่วนสถานการณ์เด่นและผลงานดี ๆ ทางสุขภาพในรอบปี และ 3) ส่วนเรื่องพิเศษประจำฉบับ ทำให้รายงานนี้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านหลากหลายกลุ่มและนำเสนอในรูปแบบที่สามารถสื่อสารได้กับคนทุกกลุ่ม โดยที่ส่วนตัวชี้วัดสุขภาพจะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และนักเรียนนักศึกษาในการอ้างอิงข้อมูลในแต่ละเรื่อง ส่วนสถานการณ์เด่นทางสุขภาพเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปที่จะรับทราบสถานการณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และส่วนเรื่องพิเศษประจำฉบับเป็นประโยชน์แก่ผู้กำหนดนโยบายในการวิเคราะห์ประเด็นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา รายงานสุขภาพคนไทยมีการกำหนดประเด็นที่สำคัญ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การเผยแพร่รายงานสุขภาพคนไทยในแต่ละปี มีการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือฉบับภาษาไทย นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่รายงานสุขภาพคนไทยผ่านเว็บไซต์ของ สสส. ของ สำนักงาน พัฒนาะระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (HISO) ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และของเว็บไซต์สุขภาพคนไทย โดยมีผู้ดาวน์โหลดเป็นจำนวนปีละเกือบ 20,000 ครั้ง แสดงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ของรายงานต่อประชากรกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
เพื่อจัดทำรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี เพื่อให้ข้อมูลและประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม และปัญญา
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายของ สสส. ให้นำไปใช้ประโยชน์
เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายในประเด็นที่สำคัญเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ
รวมทั้งการทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านทางช่องทางต่างๆ