เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึกถลิ่ม ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือภัยพิบัติรุนแรง ลำพังเจ้าหน้าที่กู้ภัยเองต้องระมัดระวังตนเองในการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ติดอยู่ในซากปรักหักพัง ทำให้เกิดความต้องการอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกและเข้าไปค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในซากปรักหักพัง และช่วยเหลือได้ทันท่วงที หุ่นยนต์กู้ภัยที่มีความสามารถยิ่งกว่ามนุษย์ จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์ดังกล่าว
ในการแข่งขันประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “เวิลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2006” เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับนานาชาติ จัดโดย เดอะโรโบรัพ เฟเดอเรชั่น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนงานให้มีการประดิษฐ์คิดค้นการใช้เทคโนโลยีสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยอย่างยิ่ง เมื่อนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนี้ โดยสามารถเอาชนะเยอรมัน ในฐานะเจ้าภาพ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และอีก 10 กว่าประเทศทั่วโลกได้ นับเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาไทยสามารถยืนเป็นเบอร์หนึ่งในการแข่งขันบนเวทีโลกได้สำเร็จ และกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ฝันอยากให้เด็กไทย นอกจากจะให้มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการสร้างความมีชื่อเสียงในด้านความก้าวหน้าเทคโนโลยีให้สังคมโลกได้รับรู้อีกด้วย