ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบกับไข้หวัดนกอย่างหนัก เมื่อต้นปี 2547 แต่ในปัจจุบันความกลัวเรื่องไข้หวัดนกได้ผ่อนคลายลง เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และอาศัยอยู่ร่วมกับไข้หวัดนกด้วยความคุ้นเคย การระบาดของไข้หวัดนกในปีต่อมาๆ จึงไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพร้อมรับมือกับไข้หวัดนกยังคงต้องดำเนินต่อไป ก่อนที่เชื้อจะมีการกลายพันธุ์และสามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของคนไทยในการเตรียมความพร้อมกับมือกับไข้หวัดนก เมื่อศาสตราจารย์แพทย์หญิงธารารัชต์ ธารากุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะ ได้คิดค้นชุดตรวจไข้หวัดนก โดยอาศัยหลักการไบโอเซนเซอร์ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
หลักการไบโอเซนเซอร์ คือ การใช้อุปกรณ์ตรวจวัดทางชีวภาพที่สามารถใช้ตรวจวิเคราะห์สารตัวอย่างได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยใช้สารตั้งต้นชีวภาพ เช่น เอนไซม์ สารปฏิชีวนะ จุลินทรีย์ หรือ ดีเอ็นเอ ควบคู่กับตัวแปลงสัญญาณไฟฟ้า คือ แสง และอิเลคตอน เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์สาราที่ต้องการตรวจวัด
ความพิเศษของชุดตรวจไข้หวัดนก แตกต่างจากชุดตรวจไข้หวัดนกที่พัฒนาขึ้นในช่วงแรกที่มีการระบาด คือ นอกจากรู้ผลฉับไวภายใน 15 นาที และแม่นยำมากกว่าเดิม แล้วยังสามารถตรวจได้ในสัตว์ที่อาจติดเชื้อ แต่ยังไม่แสดงอาการอีกด้วย เครื่องมือสุดยอดไฮเทคนี้ เจ้าของผลงานได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท อินโนวา ไบโอเทคโนโลยี จำกัด เพื่อนำผลไปผลิตจำหน่ายแก่หน่วยงานที่ดำเนินการการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย และส่งออกขายให้กับประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตไข้หวัดนก