กระบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการควบคุมสุราในสังคมไทยเริ่มขึ้นจริงจัง เมื่อกรกฎาคม 2546 จากการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” และมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และจำกัดเวลาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์ การรณรงค์ที่ต่อเนื่องพร้อมกับการเริ่มมีกลุ่มองค์กรเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น โดยเกิดเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ในปี 2546 และศูนย์วิจัยปัญหาสุราในปี 2547 ทำให้พลังของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเริ่มครบวงจร ปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกทำให้ประจักษ์แก่สาธารณะ และเกิดแรงผลักดันให้มีการควบคุม “สินค้าที่ไม่ธรรมดา” ชนิดนี้ให้เข้มงวดขึ้น เนื่องจากสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ก่อให้เกิดการเสพติด ทำให้เกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน
จนคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติมีมติให้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น เมื่อ 26 พฤษภาคม 2548 และมีการประชาพิจารณ์ ตลอดจนสัมมนาเนื้อหาใน พ.ร.บ. อยู่เป็นระยะเมื่อนายแพทย์ มงคล ณ สงขลา มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ผลักดันให้เริ่มกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นี้เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2549 และบรรจุเข้าเป็นวาระเพื่อพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นกฎหมายลำดับแรกๆ พร้อมกับการที่ภาคประชาสังคม ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมวิ่งล่ารายชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. จากทุกภูมิภาคของประเทศ รวบรวบรายชื่อสนับสนุนได้ถึงกว่า 13 ล้านรายชื่อ
กระบวนการทางรัฐสภาของกฎหมายนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น มีการอภิปรายและแปรญัตติอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกในสภา จนอาจนับเป็นหนึ่งในประเด็นสาธารณะที่ร้อนที่สุดของปี 2550 ในที่สุด พ.ร.บ. นี้ก็ได้ผ่านการเห็นชอบในวาระที่ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 โดยผ่านเป็นกฎหมายฉบับสุดท้าย ในวันสุดท้ายของการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ และได้ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป
เป้าหมายสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ 1) การลดนักดื่มหน้าใหม่ โดยการเลื่อนอายุการริเริ่มดื่มของเยาวชนให้นานที่สุด 2) การลดปริมาณการดื่มของประชากรโดยรวม และ 3) การลดอันตรายจากการดื่ม เช่น อุบัติเหตุความรุนแรงและปัญหาสุขภาพ