เครื่องมือที่เรียกว่า “เอชไอเอ” หรือที่มาจากคำว่า Health Impact Assessment (HIA) ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะแผนงานหรือโครงการ ทั้งเชิงบวกเชิงลบที่อาจจะมีต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยง ระบาดวิทยา ผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และที่สำคัญประชนในพื้นที่มีโอกาสรับรู้รับฟัง และสามารถคัดค้านโครงการต่างๆ นั้นได้ หากส่งผลร้ายต่อสุขภาวะในพื้นที่อย่างใหญ่หลวง มาตรการดังกล่าวนี้ กำหนดให้ต้องกระทำตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550
สืบเนื่องมาจากวิกฤตมาบดาพุด จังหวัดระยอง (ดูรายละเอียดในสถานการณ์เด่นเรื่องที่ 2 มาบตาพุด: ปัญหาร้อนทางเศรษฐกิจ ปัญหามลพิษของชาวบ้าน) จนมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดหลักเกณฑ์การทำ “เอชไอเอ” เพื่อสุขภาวะของประชาชน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 โดยมีโครงการ 9 ประเภท ที่ควรจะต้องทำเอชไอเอก่อนดำเนินโครงการ ได้แก่ 1) การจัดทำและปรับปรุงผังเมือง 2) การวางแผนภูมิภาค 3) การจัดทำแผนโครงข่ายการคมนาคม 4) การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 5) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแร่ 6) การเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม 7) การทำการเกษตรขนาดใหญ่ 8) การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย กากของเสีย และสารกัมมันตภาพรังสี และ 9) การทำข้อตกลงการค้าเสรี
การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือเอชไอเอ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างสังคมอนาคตที่ดีของลูกหลานที่จะต้องติดตามผลักดันให้เกิดผลอย่างแท้จริงต่อไป