ปี 2554 ย่างเข้าสู่ปี 10 ที่ประชาชนคนไทยทุกคนได้เข้าสวัสดิการสุขภาพได้ทั่วถึง และถือเป็นปีที่ประเทศไทยพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพจนประสบผลสำเร็จอย่างสูง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ที่เป็นจุดเริ่มโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค จนมาถึงปัจจุบันประชาชนไทยได้รับการรักษาฟรีทุกโรค โดยไม่เสีย 30 บาท คนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย และร้ายแรง เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถรักษาตัวได้โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ประชาชนคนไร้สัญชาติ (รอพิสูจน์สถานะ) ในประเทศไทยได้รับสิทธิประกันสุขภาพ จนตัวเลขจำนวนผู้ได้รับสิทธิประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจนเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันยังได้เกิดกิจกรรมเล็กๆ แต่ได้ผลดี ในการดูแลประชาชน เช่น จัดการออกกำลังกายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวาน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งมองการณ์ไกลดึงชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสาธารณสุข ด้วยการสนับสนุนทุนให้เรียนหมอเรียนพยาบาลเพื่อกลับมารับใช้ชุมชน เปลี่ยนสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ในชุมชน จัดตั้งกองทุนสุขภาพในระดับท้องถิ่น เป็นต้น
ผลงานที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการพัฒนาการของวงการสาธารณสุขไทยจนเป็นที่ยอมรับในสายตาขององค์กรระดับโลก ได้รับคำชื่นชมจากองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ทั้งธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิปิลล์เมลินดาเกตต์ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลาย สามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการจัดการบริหารการเงินได้เป็นอย่างดี ในระดับครัวเรือน มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังลดลง นอกจากนี้แล้ว หลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างให้การยอมรับและสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านประกันสุขภาพหรือต้นแบบ เป็นที่ศึกษาดูงานและฝึกอบรมของนานาชาติ