สถานีอนามัยที่กระจายอยู่ทุกชุมชนชนบททั่วประเทศเป็นสถานพยาบาลเล็กๆ ที่มีเครื่องมือรักษาเพียงไม่กี่ชิ้นและมีบุคลากรเพียงไม่กี่คน ที่นอกจากจะต้องดูแลคนในชุมชนทุกคนแล้ว ยังมีบทบาทเป็นผู้นำความคิดในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนมากกว่าห้าทศวรรษ มาวันนี้ สถานีอนามัยหลายๆ แห่ง กำลังเติบโตและได้รับการพัฒนาให้เป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนโฉมอาคารสถานที่ มีเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ และรถพยาบาลส่งต่อมาไว้ประจำเท่านั้น แต่ยังได้นำระบบการสื่อสารที่ทันสมัยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมาช่วยใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคได้ทันท่วงที ผู้ป่วยและหมออนามัยสามารถปรึกษาอาการของโรคกับหมอใหญ่ในอำเภอหรือจังหวัด โดยไม่ต้องเดินทางไปพบ แค่เห็นหน้าพูดคุยสื่อสารกันผ่านจอคอมพิวเตอร์ สถานีอนามัยรูปแบบใหม่ที่กลายมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้น ไม่ใช่แค่สถานที่รักษาโรคอย่างเดียวเท่านั้น ยังตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางการที่ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพช่วยดูแลคนในชุมชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิตด้วย
ผู้รับประโยชน์เต็มๆ จากการเปลี่ยนโฉมหน้าสถานีอนามัย คือ บุคลากรสาธารณสุข ประชาชน และชุมชนบุคลากรสาธารณสุขมีเครื่องมือแพทย์ดีๆ ไว้ใช้ มีโอกาสศึกษาหาความรู้ทางเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่และจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ต้องมาเสียเวลารอคิวเข้าตรวจจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลได้ ก็มีแผนส่งรถพยาบาลไปรับที่บ้าน ส่วนคนในชุมชนก็ยังได้ถือโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ดูแลโรงพยาบาลของพวกเขาเองได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี จะต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงและยั่งยืนของระบบบริการสาธารณสุขในชนบทที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและบริการเชิงรุก หรือเป็นเพียงการขึ้นป้ายสวยๆ เพื่อหาเสียงและยังคงหมกหมุ่นกับการบริการรักษาพยาบาลในที่ตั้งแบบเดิม