ก่อนมีการประกาศนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน พ.ศ. 2545 คนไร้สัญชาติที่มีเลขประจำตัวสิบสามหลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และ 7 มีสิทธิใน ‘โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูล’ (สปร.) หรือไม่ก็มีสิทธิที่จะซื้อบัตรสุขภาพจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน ใน ราคา 300 – 500 บาทต่อครอบครัว (รัฐสมทบ 500 และ 1,000 บาท) สามารถใช้สิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเกิดโครงการบัตรทอง (หรือชื่อเดิมคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) สิทธิดังกล่าวให้เฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้นคนไร้สัญชาติจึงถูกริบสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมไป
นับตั้งแต่มีการระงับสิทธิรักษาพยาบาลของคนไร้สัญชาติ ก็มีความพยายามรณรงค์ให้รับบาลคืนสิทธินี้ โดยการผลักดันจากภาคประชาสังคมที่ทำงานกับผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จนมาประสบความสำเร็จในต้นปี พ.ศ. 2553 ที่รัฐบาลประกาศนโยบายคืนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะ จำนวน 457,409 คน ที่กระจายอยู่ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลชายแดน 172 แห่ง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยจัดสรรเป็นเงินกองทุนพิเศษประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครึ่งปีงบประมาณ 2553 และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารกองทุนพิเศษนี้แทน แต่มีข้อโต้แย้งจากภาคประชาสังคมว่าทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตั้งงบบริหารจัดการเบื้องต้นของกองทุนสูงมากถึงปีละ 24 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิจะหายไปจากจำนวนที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณกว่า 11,000 คน และการให้บริการจริงในหลายพื้นที่ก็ยังขลุกขลักอยู่มาก ควรย้ำว่ากองทุนดังกล่าวนี้ยังไม่ครอบคลุมคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ ที่ไม่เข้าข่ายตามมติคณะรัฐมนตรีแม้จะถูกนับจดในทะเบียนบุคคลแล้วก็ตาม และยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะยึดการตีความกฎหมายแบบเถรตรง โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักมนุษยธรรม