องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยผลสำรวจดัชนีภาพลักษณ์การทุจริตของรัฐบาล 183 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีอันดับความโปร่งใสลดลง จากอันดับ 78 เป็นอันดับที่ 80 ด้วยคะแนน 3.5 จากเต็ม 10 และอยู่อันดับ 10 ของ 26 ประเทศเอเชีย สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเดือน พ.ย. 2554 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าประชาชนร้อยละ 72.4 เห็นว่าคอร์รัปชั่นของไทยมีมาก และร้อยละ 63.1 คิดว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้า ปัญหาดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคเอกชนมีการจ่ายเงินพิเศษให้กับผู้ที่มีอำนาจเพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากถึงร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจาก 20 – 30 ในปีที่ผ่านมา ในแต่ละปีมีการคอร์รัปชั่นประมาณ 300,000 ล้านบาท และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อาจสูงกว่า 500,000
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มภาคีภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 38 องค์กร นำโดยนายดุสิต นนทะนาคร ผู้ก่อตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นขององค์กรภาคเอกชน (ภตค.) และเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ประกาศหยุดจ่ายใต้โต๊ะให้นักการเมืองและข้าราชการ ในหลักการ “ไม่ให้ ไม่รับ ไม่ยอม” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ปัจจุบัน นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เข้ามาสานต่องานดังกล่าว
ภาคีฯ ได้เน้น 3 บทบาท ได้แก่ การเฝ้าระวัง ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการประสานร่วมมือกับภาครัฐ เริ่มจากการเฝ้าระวังโครงการฟื้นฟูหลังมหาอุทกภัยที่มีงบสูงถึง 8 แสนล้านบาท และกรณีการปล้นบ้านอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมีอาสาสมัครเผ้าติดตามและแจ้งเตือนการทุจริตในโครงการต่างๆ ของรัฐ ภาคีฯ เชื่อว่าในอนาคตภาพรวมจะดีขึ้น เพราะหลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นออกจากสังคมไทย