การบวชเป็นภิกษุณีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สำหรับผู้หญิงที่ต้องการเข้าถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และเนื่องจากการดำรงอยู่ในรูปของนักบวชเอื้อต่อการปฎิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ในสังคมพุทธแบบไทย จึงมีผู้หญิงต้องการบวชเป็นภิกษุณีอยู่เสมอ สังคมไทยมีภิกษุณีมหายานรูปแรกคือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์มหายานที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ พ.ศ.2514 สำหรับภิกษุณีเถรวาทรูปแรกคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ บุตรของภิกษุณีวรมัย ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรีในประเทศศรีลังกา เมื่อ พ.ศ. 2544 และอุปสมบทใน พ.ศ. 2546 ที่ศรีลังกา ได้รับนามฉายาว่า “ธัมมนันทา”
ทั้งนี้ ภิกษุสงฆ์ศรีลังกาเริ่มทำพิธีอุปสมบทภิกษุณี ตามพระวินัยฝ่ายเถรวาทให้แก่ผู้หญิงชาวพุทธทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย และศรีลังกา โดยการร่วมมือของภิกษุและภิกษุณีมหายาน ส่งผลให้จำนวนภิกษุณีสามเณรีในระดับโลกนั้น เพิ่มขึ้นในทุกๆ ประเทศ ประเทศที่มีภิกษุณีมากที่สุด คือ เกาหลี มีประมาณ 8,000 รูป ไต้หวัน ประมาณ 6,000 รูป เวียดนาม ประมาณ 2,000 รูป ศรีลังกา ประมาณ 1,500 รูป
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีภิกษุณีเถรวาท สายศรีลังกาไม่ต่ำกว่า 20 รูป ภิกษุณีมหายานสายไต้หวัน ประมาณ 10 รูป และสามเณีเถรวาทสายศรีลังกาไม่ต่ำกว่า 30 รูป ขณะที่สำนักภิกษุณีสงฆ์ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ทางเลือกก็มีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นชัดเจนในที่ต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ยโสธร สมุทรสาคร อุทัยธานี และสงขลา ซึ่งล้วนทำหน้าที่สืบพระพุทธศาสนา มีองค์ความรู้เรื่องพระธรรมที่ชัดเจน ข้อสำคัญทำให้ “พุทธบริษัทสี่” ครบถ้วนในสังคมไทย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทุกสำนักสงฆ์ที่มีภิกษุณี และสามเณรี มีกระแสตอบรับทั้งจากชุมชนและสังคมวงกว้างในทางบวกเพิ่มมากขึ้น มีคนมาร่วมสนับสนุนเป็นจำนวนมากขึ้นทุกกิจกรรม และมีกำลังศรัทธาจากญาติโยมมาเป็นกองหนุนสม่ำเสมอ