ในปี 2559 ประเทศไทยได้ประกาศใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่สองขึ้น เพื่อเป็นกรอบและ แนวทางกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นกรอบกำหนดทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาวะหรือสุขภาพอย่างสมบูรณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมา คือ การออกกฎหมายเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) การกำหนดนโยบายเขตสุขภาพเพื่อประชาชน1 และการผลักดันกฎหมายและร่างกฎหมายเพื่อสุขภาพหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น