ความหนาวยะเยือกแผ่ปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ของประเทศจีนช่วงฤดูหนาวของปลายปี 2545 เป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงแบบไม่ทราบสาเหตุ (SARS-Severe Acute Respiration Syndrome) หรือ “ซาร์ส” ซึ่งกลายเป็นวิกฤติครั้งสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกตลอดครึ่งแรกของปี2546
จุดกำเนิดของซาร์สเกิดขึ้นในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน จากเชื้อโคโรน่าไวรัสแอบซ่อนเร้นแฝงตัวเข้ามาอยู่อาศัยในคนป่วยที่มีอาการคล้ายๆกับไข้หวัดใหญ่ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอ และเจ็บคอ อาจมีอาการหอบหรือหายใจลำบาก
สังคมโลกรับรู้ภัยร้ายจากโรคนี้โดยทั่วถึงกัน ผ่านระบบข้อมูลข่าวสารที่ไหลพรั่งพรูออกมาเป็นระยะๆ แพร่ระบาดประดุจไฟลามทุ่ง จากเมืองสู่เมือง ประเทศสู่ประเทศ สะท้อนภาพโลกไร้พรมแดนให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น
“ซาร์ส”กลายเป็นเชื้อโรคที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนเมื่อวันที่12 มีนาคม 2546ว่าซาร์สคือ “โรคติดต่ออย่างร้ายแรง”เป็น “โรคอุบัติใหม่” ที่ไม่มีขอบเขตคนทั้งโลกยังไม่มีภูมิต้านทานจึงมีโอกาสเกิดโรคเท่าเทียมกัน จีนเวียดนามฮ่องกงสิงคโปร์ไต้หวันและแคนาดากลายเป็นประเทศกลุ่มเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงของโรคร้าย
นายแพทย์คาร์โล เออร์บานี เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกนับเป็นนายแพทย์คนแรกที่ออกมาประกาศเตือนภัยบอกชาวโลกให้เตรียมรับมือเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคนี้อย่างจริงจัง ต่อมาเขาตัดสินใจเดินทางไปประเทศเวียดนามเพื่อสืบสวนหาต้นตอสาเหตุของโรคโดยไม่นำพาต่อเสียงห่วงใยและท้วงติงของภรรยากับสภาพของสามีที่กำลังป่วยอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อแพทย์ป่วยแล้วจะไปดูแลคนป่วยได้อย่างไร
“สถานการณ์อย่างนี้ถ้าผมไม่ทำแล้วจะให้ผมทำอะไรรอไปงานปาร์ตี้คอยตอบอีเมล์หรือนั่งเขียนรายงานทางวิชาการอย่างนั้นหรือ” นายแพทย์เออร์บานีตอบภรรยา
ระหว่างปฏิบัติภารกิจในเวียดนามนายแพทย์เออร์บานีเกิดอาการป่วยมีไข้สูง เขามั่นใจว่าเขาติดโรคซาร์สแน่นอน จึงตัดสินใจมารักษาตัวในเมืองไทย เพราะมีระบบบริการด้านการรักษาที่ดีกว่า โดยแจ้งล่วงหน้าต่อกรมควบคุมโรคของไทย
“ความกลัว”เข้ามาครอบงำและมีอิทธิพลกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของคนไทยโดยไม่รู้ตัวสังคมไทยเริ่มตระหนกและตื่นกลัวต่อการคาดเดาสภาพอาการป่วยของนายแพทย์เออร์บานีหลังมีรายงานว่านายแพทย์เออร์บานีเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบำราศนราดูรตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมและเสียชีวิตในวันที่29 มีนาคม ถือเป็นคนป่วยรายแรกที่พบในเมืองไทย
องค์การอนามัยโลกร่วมกันสดุดีไว้อาลัยและขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การรักษานายแพทย์เออร์บานีอย่างดีที่สุดแล้ว