ข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติชี้ว่าคนไทยบริโภคเครื่องดื่มพวกนี้โดยเฉลี่ยต่อหัวติดอันดับโลก
จากสถิติเปรียบเทียบในปี 2543 ที่พบว่าพี่ไทยดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เฉลี่ยต่อหัวต่อปีเท่ากับ 13.59ลิตรสูงกว่าฝรั่งเศส (13.31 ลิตร) เยอรมัน (12.45 ลิตร) รัสเซีย (10.70 ลิตร) อังกฤษ (9.73 ลิตร) สหรัฐอเมริกา (9.08 ลิตร) ญี่ปุ่น (6.26 ลิตร) และฟิลิปปินส์ (3.33 ลิตร)
รายงานองค์การอนามัยโลกยังบอกอีกด้วยว่าอัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเหล้าต่ำกว่าประเทศที่ไม่ห้ามโฆษณาถึงร้อยละ 23 และประเทศที่ห้ามโฆษณามีอัตราการกินเหล้าน้อยกว่าประเทศที่ไม่ห้ามโฆษณาถึงร้อยละ 16
ที่น่าสนใจที่สุดคือว่าการโฆษณาเหล้าที่เพิ่มขึ้นทุก 5 นาทีในแต่ละวันมีความสัมพันธ์กับการกินเหล้าในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึง 5 กรัม
กลับมาดูสถิติละเอียดในบ้านเราบ้างจากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเหล้าของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2544 พบว่ามีคนดื่มเหล้าทั้งหมด 15.3 ล้านคนหรือร้อยละ 33 ของจำนวนประชากรที่อายุ 15 ปีทั้งหมด 46.9 ล้านคนในจำนวนนี้ 13 ล้านคนเป็นชายและ 2.3 ล้านคนเป็นหญิงในกลุ่มนักดื่มส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-29 ปีรองลงมาคือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี
ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บริโภคทั้งหมดในปี 2544 สูงถึง 1,926.1 ล้านลิตร! (ยังไม่รวมการบริโภคเหล้าพื้นบ้าน) โดยเพิ่มจาก 1,604 ล้านลิตรในปี 2540และเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของการสำรวจในปี 2531 ที่บริโภครวมเพียง 721.8 ล้านลิตรเท่านั้น
ตลาดการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเราที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลให้การดื่มเหล้าของคนไทยในแต่ละปีมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆส่วนหนึ่งมาจากมีเหล้าและเบียร์ต่างประเทศยี่ห้อใหม่และเหล้าผสมที่กำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมากในตลาดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะผู้หญิงดื่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 คือจากร้อยละ 1 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 1.9 จำนวนผู้ดื่มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.6 แสนคนต่อปีคิดเป็นมูลค่าการบริโภคประมาณ 125,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการทุ่มโฆษณาเหล้าซึ่งสูงถึงเฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท!