การระบาดของยาเสพติดในสังคมไทย เป็นปัญหาสุขภาพสังคมที่มีผลกระทบต่อทั้งระบบสังคมโดยรวม และต่อสุขภาพของตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน นโยบายปราบปรามยาเสพติดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกรัฐบาลได้พยายามดำเนินการมามากกว่าสามทศวรรษ
ปรากฏว่ามิเพียงไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ปริมณฑลของการระบาดในเชิงพื้นที่กลับขยายกว้างขวางขึ้น มีจำนวนผู้เสพสารเสพติดเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการแพร่ลงไปถึงระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา
ดังผลของการสำรวจการใช้ยาเสพติดจำนวน 9 ชนิดของสถาบันวิชาการร่วมกัน 8 แห่ง ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2544 ใน 40 จังหวัด ในกลุ่มประชากรอายุ 12-65 ปีรวมจำนวน 39,000 คน สามารถนำมาคาดประมาณจำนวนผู้ที่เคยใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้ กัญชากระท่อมฝิ่นเฮโรอีนสารระเหยยาบ้ายาอียาเคและโคเคน พบว่ามีสูงมากถึง 7.31 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของประชากรที่มีอายุ 12-65 ปีโดยมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 4.17 ล้านคนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจพบว่ามีจำนวน 1.94 ล้านคนหรือร้อยละ 4.3 ของประชากรที่ทำการสำรวจแยกได้เป็นผู้เสพยาบ้ามากที่สุด 1.09 ล้านคนหรือเท่ากับร้อยละ 56 รองลงมาคือกัญชาร้อยละ 34 และสารเสพติดต่อไปนี้ตามลำดับคือกระท่อมสารระเหยยาอี/ยาเลิฟฝิ่นเฮโรอีนยาเคและโคเคน
ชัดเจนว่าแม้สารเสพติดจะมีหลายประเภท แต่ที่แพร่ระบาดมากที่สุดและเป็นปัญหามากที่สุดของบ้านเราในปัจจุบันคือยาบ้า ที่มีหลักฐานแน่ชัดว่าแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราเพราะสามารถผลิตได้ง่ายไม่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนน้อย
การแปรนโยบายปราบปรามยาเสพติดสู่ระดับปฏิบัติการสงคราม
รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ทันทีที่เข้าบริหารประเทศว่าจะปราบปรามยาเสพติดให้ลดน้อยลงให้ได้ โดยในช่วง 2 ปีแรกแม้มีการจับกุมผู้ผลิตและผู้ค้าเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่เห็นผลชัดเจนในปี 2546 รัฐบาลจึงประกาศยุทธการทำสงครามขั้นแตกหักกับยาเสพติด โดยกำหนดแผนการปราบปรามเป็น 3 ขั้นตอนคือ
ระยะที่ 1 ยึดพื้นที่แยกสลายทำลายวงจรยาเสพติด (1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2546)
ระยะที่ 2 ฟื้นฟูดูแลพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของพลังแผ่นดินและชุมชน (1 พฤษภาคม 2546 – 2 ธันวาคม 2546)
ระยะที่ 3 ดำรงความเข้มแข็งของพลังแผ่นดินและชุมชนอย่างยั่งยืน (3 ธันวาคม – 30 กันยายน 2547)