ท่ามกลางปรากฏการณ์สังคมที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่ตัวเลขและละเลยการพัฒนาความแข็งแรงของสังคม ทำให้การใช้ชีวิตของเด็กไทยจำนวนมากในทุกวันนี้ มีแนวโน้มหลงอยู่ในวังวนของวัฒนธรรมบริโภคที่เน้นการกิน ดื่ม สูบ เที่ยวกลางคืน และบางส่วนติดยาเสพติดและหวังรวยลัดจากการพนัน
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2547 พบว่า จำนวนเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่ดื่มแอลกอฮอล์มี 3.78 ล้านคน แต่พบข้อมูลที่น่าตกใจก็คือ ในระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2539-2546) จำนวนวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปีที่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า จากเดิมเพียง1%กลายเป็น 5.6 %ส่วนการสูบบุหรี่นั้น ปี 2547 มีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำประมาณ 9.6 ล้านคนและสูบไม่ประจำ 1.7 ล้านคน รวมผู้สูบบุหรี่ 11.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี 1.26 ล้านคน
เดือนกุมภาพันธ์ 2548 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชรายงานถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของเยาวชนไทยอายุ 15-19 ปี พบว่า 45% ดื่มเหล้าเป็นประจำ โดยส่วนใหญ่ดื่มครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี และอายุที่เริ่มดื่มน้อยที่สุดคือ 3 ขวบโดยพ่อแม่ให้ลองดื่ม ทั้งนี้แรงจูงใจสำคัญที่ดื่มครั้งแรกคือความอยากลอง โอกาสที่ทำให้ดื่มเหล้ามากที่สุดคือช่วงเทศกาลปีใหม่และที่น่าสนใจคือ สภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการดื่มสูงคือ การเข้าถึงแหล่งซื้อขายสุราในชุมชน
ข้อสรุปของการจัดสัมมนา "เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม" รวม 5 ครั้งจากผลการสำรวจวิจัยหลายสำนัก ได้แก่ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และเอแบคโพลล์ชี้ว่าเด็กไทยในปัจจุบันกำลังใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นอย่างไม่สนใจสังคมส่วนรวม และมีแนวโน้มที่จะติดอบายมุขต่างๆสูง ดังนี้
(1) แปลกแยกกับศาสนา คือ 45% ไม่นิยมทำบุญตักบาตรและ 65% ไม่เคยฟังพระเทศน์เลย (2) มองเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศในวัยเรียนว่าเป็นเรื่องปกติ โดยอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเด็กไทยคือ 17 ปี ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ 50% ยอมรับว่าอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน และ 40% เสพสื่อลามก (3) ติดชีวิตเสพสุข คือชอบเดินห้างสรรพสินค้า และ 52 % ชอบซื้อและเปลี่ยนมือถือ (4) บางส่วนติดการพนัน คือประมาณ 5% พนันบอลมากกว่า 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์และ (5) อยู่ท่ามกลางวงล้อมของสถานที่อโคจรทั้งสถานบันเทิง บริการอาบอบนวด และคาราโอเกะ