10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2548
สื่อโป๊ๆกับเรื่องเซ็กส์ของวัยรุ่น

คำว่า ’โป๊’ ในมุมมองของคนไทยโดยทั่วไปมักนึกถึง ’สื่อลามกอนาจาร’  ที่นำเสนอเพื่อต้องการกระตุ้นปลุกปั่นให้เกิดความตื่นตัวหรือความเร่าร้อนทางเพศซึ่งดูเหมือนจะขัดต่อศีลธรรม  แต่ในมุมมองของผู้ที่สร้างหรือสนับสนุนกลับมีความคิดเห็นอย่างตรงข้ามบ้างมองว่าเป็นเรื่องของศิลปะ และบ้างก็ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล

ขณะที่ปี 2547 เป็นปีที่ข่าวและคดีภัยทางเพศในสังคมไทยพุ่งขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ (ดังเสนอในสถานการณ์เด่นลำดับที่ 4) ในปีเดียวกันนี้เองก็เกิดกรณีสื่อโป๊หลากหลายรูปแบบถูกนำเสนอต่อสาธารณะทั้งในแง่ความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ เช่น เรื่องโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือรับส่งรูปโป๊ได้  เพลงที่มีเนื้อหาโป๊  การ์ตูนโป๊  และเว็บไซต์โป๊  และในแง่ความแพร่หลายเข้าถึงได้ง่ายๆของสื่อโป๊ยุคดั้งเดิมคือ หนังสือปกขาว  ยุคสมัยใหม่หน่อยก็คือวีดีโอโป๊ และหนังแผ่นโป๊  โดยยังไม่นับรวมการตีพิมพ์รูปโป๊เปลือยในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันที่ทำเป็นประจำกันอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงเรื่องราวโป๊ๆ  จนกลายเป็นความเคยชิน แต่ผลกระทบที่ขยายวงกว้างมาตลอดปี 2547 คงปฏิเสธได้ยากว่า พฤติกรรมเลียนแบบที่กลายมาเป็นอาชญากรรมทางเพศนั้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการขาดการควบคุมสื่อลามกอนาจารต่างๆ   และเป็นที่น่าหวั่นใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าผู้ตกอยู่ในอิทธิพลสื่อโป๊รุนแรง ก็คือเด็กๆ ที่ยังขาดวิจารณญาณ จนกลายเป็นทั้งผู้ต้องหาและผู้ถูกกระทำในเวลาเดียวกัน

น่าสนใจว่า สื่อต่างๆที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นไปในทางโป๊เปลือย  มักปฎิเสธว่าตนไม่มีส่วนในการทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในวัยรุ่นและเยาวชนโดยอ้างว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้คิดเองเป็น รู้อะไรถูก อะไรผิด แต่สิ่งที่แน่นอนของสังคมบริโภคนิยมก็คือรายได้มหาศาลจากธุรกิจมักอยู่เหนือกฎเกณฑ์แห่งความถูก - ผิดเสมอ

 


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333