ทุกวันนี้การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพขยายไปทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะ 1 ใน 20 ประเทศของโลกที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประเทศมหาอำนาจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ’ จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักวิจัยและบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาศึกษาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในบ้านเรา
จุดเริ่มต้นของกระแสอนุรักษ์สมุนไพรไทยครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2547 หลังจากองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทยหรือไบโอไทย (BioThai) ออกมาเปิดเผยว่า พันธุ์พืชไทยหลากหลายชนิดถูกต่างชาติยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว เริ่มด้วยข้าวหอมมะลิ เปล้าน้อย กวาวเครือขาว และมะละกอจีเอ็มโอ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการจดสิทธิบัตรสมุนไพรไทยโดยบริษัทข้ามชาติ เพราะนั่นย่อมหมายความว่าสมุนไพรไทยและความรู้ในการใช้สมุนไพรของชาวบ้าน ซึ่งควรเป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน กลับกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบริษัทเอกชนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น
พฤศจิกายน 2547คนไทยเพิ่งรับรู้ว่า ‘กวาวเครือขาว’ สมุนไพรพื้นบ้านสำคัญของไทยซึ่งรู้จักแพร่หลายกันในแวดวงแพทย์แผนไทย อีกทั้งยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมความงามมานานหลายสิบปีในประเทศไทย ถูกบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำของญี่ปุ่นชื่อโคเสะและชิราโตริเภสัชจำกัด นำไปจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2545 คุณสมบัติของสารสกัดจากกวาวเครือที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรคือ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกเพื่อช่วยรักษาผิวพรรณไม่ให้แก่เร็ว การจดสิทธิบัตรนี้ครอบคลุมกว้างขวางถึง 20 รายการเป็นต้นว่า ตัวสารที่สกัดได้จากกวาวเครือ กรรมวิธีการสกัด รวมถึงการนำสารสกัดไปใช้เป็นส่วนประกอบของสารที่มีคุณสมบัติในการดูแลผิวอื่นๆ