10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2548
น้ำตาลในนมและขนมเด็ก เรื่องไม่เล็กในสังคมไทย

ใครเลยจะคิดว่า ยอดรวมการใช้เงินของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่หมดไปกับ ‘ขนมถุง’ หรือ ‘ขนมขบเคี้ยว’ ที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะสูงถึงกว่าแสนล้านบาทต่อปี  

กลุ่มผู้ผลิตเข้าใจดีว่าแม้กลุ่มผู้บริโภคของเขาจะยังไม่มีรายได้ แต่ถ้าวางแผนการตลาดดี กำหนดรูปลักษณ์ให้ชวนกิน ใช้กลยุทธ์ด้านราคา การโฆษณา และการแจกแถมของเล่นล่อใจ ตบท้ายด้วยการวางขายแบบหว่านทั่วเพื่อให้เด็กหาซื้อได้ง่ายทุกที่ทุกเวลาแม้กระทั่งร้านค้าในโรงเรียน  เงินจะค่อยๆ ไหลจากกระเป๋าของพ่อแม่ ผ่านผู้บริโภควัยเด็ก และกลายเป็นผลกำไรของพวกเขาในที่สุด 

ข้อมูลภาพกว้างจากการสัมมนาระดับชาติ ‘เด็กไทยรู้ทัน’ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 5-24 ปี ประมาณ 21 ล้านคน มีเงินไปโรงเรียนปีละ 354,911 ล้านบาท ใช้จ่ายเรื่องขนมขบเคี้ยวทั้งปีรวม 161,580 ล้านบาท นั่นคือเท่ากับ 15.7% ของเงินงบประมาณแผ่นดินปี 2547  หรือมากกว่างบประมาณประจำปีของ 6 กระทรวงคือ กระทรวงกลาโหม  กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข ที่รวมกันได้เพียง 158,000 ล้านบาทเท่านั้น  

ถ้ามองลงไปในระดับใต้หลังคาบ้าน  ประมาณสองในสามของจำนวนครัวเรือนในสังคมไทยทั้งหมด16,470,000 ครัวเรือนมีหนี้สินรุงรัง  โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนอยู่ที่ 13,736 บาท  แต่จ่ายค่าขนมให้ลูกเฉลี่ยคนละ 9,810 บาทต่อปี  หรือประมาณ 800 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ใช้เงินด้านการศึกษาเฉลี่ยคนละ 3,024 บาทต่อปี  น้อยกว่าเงินซื้อขนมถึง 3.24 เท่าเงินจำนวนมากที่หมดไปกับการซื้อขนมนี่เอง คือแม่เหล็กตัวโตที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตหลายรายกระโดดเข้าร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของขนมเด็ก

เด็กไทยติดหวานมาตั้งแต่เกิด

นายแพทย์สุริยเดว ทริปาตีแห่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติกล่าวว่า เด็กไทยติดหวานและเป็นโรคอ้วนตั้งแต่อยู่ในครรภ์  ความหวานที่แม่รับเข้าสู่ร่างกายทำให้น้ำคร่ำซึ่งเป็นอาหารของทารกมีรสหวาน เมื่อเกิดมายังกินนมผงดัดแปลงผสมน้ำตาลอีกซึ่งการทานอาหารรสหวานมากไปนี้ จะทำให้เด็กอิ่มและตัดโอกาสที่เด็กจะได้รับสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333