ปี 2547 ปัญหาภัยทางเพศทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นมาก จนคุกคามสุขภาพของผู้คนในสังคม แต่ดูเหมือนว่าปัญหานี้ที่ทุกฝ่ายควรหาหนทางออกร่วมกันกลับไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพอย่างจริงจัง อีกทั้งยังไม่มีนโยบายใดที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนพิการ หรือคนชรา จะมีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะเรียกได้ว่า ‘เขตปลอดข่มขืน’
ในปี 2547 มีดัชนีชี้วัดถึงสถานการณ์ภัยทางเพศของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆมากอย่างน่าตกใจ เริ่มต้นจากภาพรวมสถิติตัวเลขคดีข่มขืนที่ถูกแจ้งทั่วประเทศพบว่าเพิ่มขึ้นทุกปี หากดูเฉพาะจำนวนคดีที่ผู้เสียหายแจ้งตำรวจเปรียบเทียบระหว่างปี 2540 ที่มีอยู่ 3,741 คดี กับปี 2547 ที่จำนวนคดีพุ่งขึ้นเป็น 5, 052 คดี เท่ากับว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา อัตราคดีข่มขืนสูงขึ้นถึง 35%!
ที่น่าสังเกตและคงต้องใส่ใจในเชิงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือสัดส่วนของจำนวนคดีที่ตำรวจจับผู้กระทำผิดได้นั้นลดลงทุกปี เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคดีที่แจ้งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คือในปี 2546 - 2547 มีเพียงประมาณหนึ่งในสามของคดีที่รับแจ้งเท่านั้นที่สามารถนำคนร้ายมาดำเนินคดีได้
แต่สิ่งที่ควรต้องย้ำตรงนี้ก็คือ ตัวเลขผู้เข้าแจ้งความเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีผู้เสียหายจากการถูกข่มขืนจำนวนมากที่ไม่แจ้งความ สถิติอาชญากรรมทางเพศของทุกประเทศจึงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก สำหรับประเทศไทยมีผู้คาดประมาณว่าจำนวนคดีดังกล่าวเป็นแค่เพียง 5% ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้นนั่นคือยังมี ‘ตัวเลขมืด’ อีกมากมายที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในสารบบของการแจ้งความผ่านสถานีตำรวจ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน อาทิ เหยื่อรู้สึกอับอาย หรือถูกข่มขู่ หรือผู้กระทำผิดเป็นคนใกล้ตัวมาก เป็นต้น
ทำให้ตัวเลขที่แท้จริงของผู้ถูกกระทำยังเป็นปริศนา และผู้ก่อคดีจำนวนไม่น้อยยังลอยนวล บ้างก็ก่อคดีซ้ำ จนยิ่งนานวันดูเหมือนว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในสังคมไทยสำหรับเด็ก ผู้หญิง คนพิการและคนชรา จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ
สถิติถัดมาที่คนทั่วไปสามารถรับรู้คือ จำนวนข่าวที่เกี่ยวกับภัยทางเพศในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน มูลนิธิเพื่อนหญิงได้เก็บรวมรวมจำนวนข่าวดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ปี 2542 จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ข่าวภัยทางเพศเพิ่มสูงบนหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้นในปี 2547 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ที่มีจำนวนข่าวมีประมาณ200 แต่ปี 2547 จำนวนข่าวเพิ่มขึ้นถึง 329 ข่าวสิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนข่าวที่เกี่ยวกับการรุมโทรม หรือก็คือการข่มขืนหมู่ ระหว่างปี 2542-2547 เพิ่มสูงมากขึ้นเกือบ 100 เท่า
ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ในช่วงระหว่างปี 2544-2547 จำนวนคดีความผิดทางเพศจากสถานพินิจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศสูงขึ้นโดยตลอด จากจำนวนคดีรวม 1,735 คดี ในปี 2546 เพิ่มเป็น 2,417 คดีในปี 2547 หากพิจารณาเฉพาะคดีข่มขืนในรอบปีนี้ พบว่าเหตุการณ์ข่มขืนได้พุ่งสูงถึง 942 คดี มากกว่าปี 2546 ถึง 312 คดี หรือในแต่ละวันมีผู้ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ข่มขืนโดยเด็กและเยาวชนสูงถึงวันละ 2.6 ราย