ตลอดปี 2547 สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก และเกิดสถานการณ์ลูกโซ่ต่อเนื่องไปสู่อุณหภูมิที่ร้อนแรงสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถระงับได้ ทำให้เกิดคำถามต่อปริศนาแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ว่า จะนำพาประเทศไทยไปสู่สมรภูมิของสงครามก่อการร้ายหรือไม่
หมอกควันแห่งความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2546 แต่มาเขม็งเกลียวชัดเจนมากในช่วงต้นปี 2547 โดยในวันที่ 4 มกราคม เกิดการปล้นปืนกว่า 400 กระบอก ณ กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 ศพ และพร้อมกันนั้นก็มีการลอบเผาโรงเรียนในนราธิวาส เกือบ 20 แห่ง
จากเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารครั้งใหญ่นี้เอง ทำให้คำพูดของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่าความวุ่นวายในพื้นที่ภาคใต้ "เป็นฝีมือของโจรกระจอก"ถูกนำกลับมาทบทวนใหม่ และยิ่งนานวัน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า การประเมินสถานการณ์ดังกล่าวห่างจากสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากมายเพียงใด
กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 สรุปสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ตลอดปี 2547 ว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้น 919 ครั้ง เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ 496 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 53 ของเหตุร้ายที่เกิดขึ้น สำหรับพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ จังหวัดนราธิวาส 455 ครั้ง รองลงมาคือปัตตานี 276 ครั้ง และยะลา 183 ครั้งซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ว่าเฉพาะปี 2547 เพียงปีเดียวเกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งกว่าที่เคยเกิดขึ้นใน 10 ปีก่อนหน้านั้นรวมกันถึง 1.7 เท่าตัว!!!