โศกนาฎกรรม “เรือ 3 ลำ.อับปางที่ภูเก็ต” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ได้คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีน 47 คน1 นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพ ความรู้สึก และภาพลักษณ์ของประเทศไทยตลอดจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน และภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล โศกนาฎกรรม “เรือล่มภูเก็ต” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 47 คน และมีผู้ประสบภัย 149 คน ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงหลายแสนคน และสร้างผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทาน ด้านการท่องเที่ยวของไทยอย่างสาหัสสากรรจ์ในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปี 2561 เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยต้องศึกษา เพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในการคมนาคมของประเทศ ตลอดจนเข้าใจถึงความอ่อนไหวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและแสดงความจริงใจและจริงจัง ในการมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น บทความนี้เป็นการสรุปย่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและถอดบทเรียนเพื่อการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอนาคต คลื่นซัด เรืออับปาง 3 ลำกลางทะเลภูเก็ต ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ณ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทะเลอันดามัน บริเวณเกาะราชากับเกาะเฮอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่สร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยครั้งใหญ่มีเรือล่มพร้อมกันในวันเดียวถึง 3 ลำ ลำแรกคือ เรือนำเที่ยว “ฟีนิกซ์ พีซีไดวิ่ง” ซึ่งบรรทุกผ้โู ดยสารเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 89 ชีวิต ได้ล่องเรือออกสู่ทะเลท่ามกลางดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน แต่แล้วกลับต้องประสบพบเจอกับมรสุมลูกใหญ่ โดยคลื่นสูงกว่า 4 เมตร ได้ซัดเอาเรือนำเที่ยวลำดังกล่าวล่มลงจนจมลึกใต้ท้องทะเลกว่า 45 เมตร ทำให้คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีนบนเรือไปถึง 47 คน ลำที่สองคือ “เรือยอซท์เซเรนิตา” ล่มลงบริเวณเกาะไม้ท่อน ผู้โดยสาร 42 คน ได้รับการช่วยเหลือ รอดชีวิตทั้งหมด ลำที่สาม เป็นเรือเจ็ตสกีของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียล่ม มีผู้โดยสาร 2 คน ล่มบริเวณเกาะราชา ได้รับการช่วยเหลือทั้งสองคน ทำให้ในวันนั้นมีผู้ประสบภัยเรือล่มรวม 149 ราย2 แน่นอนว่าอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อสืบสาวราวเรื่องแล้ว กลับพบว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุ ทางการได้มีการแจ้งเตือนให้เรืองดออกจากฝั่งแล้ว แต่คนขับเรือยังประมาทฝ่าฝืนนำเรือออกจากฝั่ง ต่อมากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวได้สืบสวนพบข้อมูลทางการเงินเจ้าของเรือฟีนิกซ์ พบว่ามีการกระทำการในลักษณะใช้คนไทยเป็นนอมินีให้กับนายทุนชาวจีนที่มาทำธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตด้วย ทำให้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยถูกโยงเข้ากับเรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย และพยายามผลักปัญหาว่า ต้นตอมาจากกลุ่มนักธุรกิจนอมินีที่มุ่งแต่แสวงหากำไร โดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยของทางราชการ มากกว่าการแสดงความตั้งใจที่จะมุ่งแก้ปัญหาเรื่องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของไทยทั้งระบบ3 ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ประโยคหลุดปากจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า“เป็นเรื่องของคนจีน ที่ทำกับนักท่องเที่ยวจีนเอง ทำเรือของเขาเอง ละเมิดฝ่าฝืน และทำผิดกฎหมายไทย เขาทำตัวของเขาเอง...” แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ “น้ำผึ้งหยดเดียว” นี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับทางการและประชาชนจีนอย่างมากชาวจีนแสดงความโกรธแค้น ผ่านสังคมออนไลน์อย่างเผ็ดร้อนจนส่งกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการเดินทางมาเที่ยวไทยอย่างมาก ร้อนจนถึง พล.อ.ประวิตร ต้องออกมาแสดงความเสียใจ และขอโทษผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พร้อมประกาศเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ประสบเหตุที่ได้รับบาดเจ็บ ควบคู่ไปกับการเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย