ปณิดา-ณัฐกานต์ ผู้กล้าหาญออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น จนนำ.มาซึ่งการตรวจสอบขยายผล จน ป.ป.ท. พบว่าแท้ที่จริงแล้วการทุจริตได้แผ่เป็นวงกว้าง โดยมีมากกว่า 60 จังหวัดของประเทศไทยที่มีการทุจริตในลักษณะดังกล่าว ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย นับวันยิ่งมีวิวัฒนาการของกลโกงในหลายรูปแบบ ที่คอยแอบแฝงกัดกินงบประมาณของรัฐจนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปีและที่สำคัญเป็นการเบียดเบียนประชาชนที่ต้องพึ่งพิงงบประมาณและโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนความฉ้อฉลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการบริหารโครงการต่างๆ แล้ว ยังสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรตรวจสอบของรัฐ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และองค์กรที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภาคประชาชน ที่ปัจเจกชนเพียงสองคนสามารถทำหน้าที่“เป่านกหวีด” เปิดโปงการทุจริตได้ บทความนี้เป็นการศึกษากรณีตัวอย่างที่นักศึกษาฝึกงานออกมาเปิดโปงความฉ้อฉลของข้าราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนขยายผลให้เห็นองคาพยพของขบวนการทุจริตที่เกิดขึ้นในระบบราชการที่เชื่อมโยงกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ