ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตยืดเยื้อมาเกือบสองปี ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ยังไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว สร้างความผิดหวังให้กับภาคประชาชน นักวิชาการและเครือข่ายด้านสุขภาพทั่วประเทศ
ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่รับวิถีการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียว และมีความเข้มข้นในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้นๆ ในขณะที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเอง โดยเฉพาะสารออกฤทธิ์ (Active Ingredient) จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100% โดยในปี 2560 มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรมากถึง 197,647 ตัน ในขณะที่ปี 2548 นำเข้าเพียง 75,473 ตัน1 นั่นหมายความว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น 2.6 เท่า ภายในระยะเวลา 12 ปี จากการค้นข้อมูลและการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 150 ชนิด เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Pesticides;HHPs) ตามเกณฑ์ของ JMPM (FAO/WHO Joint Meeting on Pesticide Management) หรือคณะทำงานร่วมระหว่างองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช บทความนี้เป็นการสรุปสถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่หลายฝ่ายพยายามขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย นโยบายการใช้สารเคมีดังกล่าวในต่างประเทศและการต่อสู้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐโดยการผนึกกำลังของกลุ่มเกษตรกร ภาคประชาชนนักวิชาการและเครือข่ายด้านสุขภาพของไทย