ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูล และไม่มีการรวมตัวจนมีพลังมากพอที่จะกดดันให้ผู้ผลิตทั้งภาครัฐและเอกชนเลิกเอาเปรียบทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั้งมวลให้จริงจังเสียที
ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของบริโภคนิยม ดูเหมือนว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและถูกเอาเปรียบจากการบริโภคสินค้าและบริการตลอดเวลา นับตั้งแต่อาหารตัดแต่งยีน ผัก ผลไม้ที่มากไปด้วยสารเคมี สิ่งปลอมปนในอาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าขนาดใหญ่ราคาสูงอย่างรถยนต์หรือบ้าน ที่เมื่อซื้อมาแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่บริษัทโฆษณาชวนเชื่อไว้ รวมถึงการถูกชักชวนให้กระหน่ำส่งเอสเอ็มเอส (SMS) ผ่านโทรศัพท์มือถือตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ
ปี 2548 เป็นปีที่พลังการต่อสู้ของผู้บริโภคไทยคนเล็กๆหลายกรณีได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณชนอย่างกว้างขวาง และเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้คนไทยทั่วไปตื่นตัวและรอความหวังที่จะมีองค์กรอิสระทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ดังที่มีการระบุไว้ในมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2540 ที่ว่า“สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบ ด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนด มาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค”
ข่าวโด่งดังของปัญหาผู้บริโภคไทยที่แพร่ไปทั่วโลกคือ ข่าวทุบรถเมื่อต้นปี 2548 โดย “เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ” แม่ค้าสาวใจกล้าที่สร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการบริษัทผลิตรถยนต์ด้วยการทุบรถโชว์สื่อมวลชนจนกลายเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก หลังจากรถยนต์ซีอาร์วีป้ายแดง ราคา 1.3 ล้านบาท ออกอาการสตาร์ตไม่ติด พวงมาลัยเอียงซ้าย ศูนย์ถ่วงเสีย จนต้องเข้าอู่หลายครั้งหลังออกรถใหม่มาหมาดๆ ความไม่พอใจของเดือนเพ็ญปะทุขึ้นสูงเมื่อบริษัทที่ขายรถบอกว่า รถ 100 คัน จะมีปัญหาแค่คันเดียวเท่านั้น และปฏิเสธที่จะเปลี่ยนรถคันใหม่ ด้วยความผิดหวังในท่าทีและการบอกปัดอย่างไร้ความรับผิดชอบของบริษัทผลิตรถยนต์ ทำให้เธอนำรถที่ซื้อออกมาทุบประจานด้วยความสะใจ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนทั่วประเทศ ท้ายสุดจบลงด้วยบริษัทรถยี่ห้อนั้นยอมกลับลำหันมาเจรจาด้วยสันติวิธี และซื้อรถคืนด้วยราคาเต็ม เพื่อกู้ภาพลักษณ์บริษัทคืน
กระแสข่าวการทำลายรถผ่านสื่อได้สร้างปรากฏการณ์ลูกโซ่ในระยะเวลาไม่กี่วัน เมื่อผู้ซื้อรถยนต์รายอื่นๆ เกือบทุกยี่ห้อออกมาเผยปัญหารถยนต์ของตนให้สาธารณชนได้รับรู้ หลังจากที่เคยถามหาความรับผิดชอบจากทางบริษัทมาแล้ว แต่กลับได้รับการบอกปัดและท่าทีที่เฉยเมยเช่นเดียวกัน มีการพัฒนาการประท้วงออกมาหลายลักษณะ นอกจากทุบรถแล้วก็มีการเผารถวางโลงศพพร้อมพวงหรีด ตลอดจนรวมตัวกันประท้วง ทำลายรถป่วยต่อหน้าผู้คนจำนวนมากในงานแสดงรถยนต์ครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนมีนาคม 2548
ปัญหาความไร้มาตรฐานของรถยนต์ที่ทยอยออกมาจนยอดการขายรถยนต์ตกลงทันที ทำให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สถาบันยานยนต์เร่งตั้ง “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านคุณภาพยานยนต์” ในเดือนมีนาคม 2548 โดยเพียงช่วงเวลาเดือนเศษ มีผู้ร้องเรียนผ่านศูนย์ฯ กว่า 190 รายในขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดก็หันมาปรับทิศทางใหม่ ดูแลเอาใจใส่ด้านคุณภาพการผลิตและการบริการมากขึ้น จนปัญหาการร้องเรียนผ่านศูนย์ฯ ค่อยๆ ลดลง
ข่าวใหญ่ในรอบปีปลุกกระแสเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคไม่แพ้กัน เมื่อ “รัตนา สัจจเทพ” ผู้เป็นเหยื่อจากการซื้อบ้านจัดสรร ทาสีบ้านตนเองเป็นสีดำโดยมีเครือข่าย “บ้านไม่สมหวัง” และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกันละเลงในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับหน่วยงานรัฐที่ปกป้องนายทุนบ้านจัดสรรที่หลอกขายบ้านบนที่สาธารณะให้เธอ