10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2549
ศึกเพื่อสยบ “บุหรี่-เหล้า” ยังไม่จบในสังคมไทย

การรณรงค์และสร้างมาตรการคุมเข้มต่างๆเพื่อลดปริมาณการบริโภคบุหรี่และเหล้าในสังคมไทยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและความจริงจังจริงใจของภาครัฐ  เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม และสร้างเสริมทั้งสุขภาพสังคมและสุขภาพปัจเจกบุคคล  

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์  ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ การรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องบุหรี่-เหล้าของภาคประชาสังคมและสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งผลให้เกิดมาตรการคุมเข้มการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบขึ้นหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างการกำหนดระยะเวลาจำหน่ายสุราตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. การห้ามจำหน่ายบุหรี่และแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และการกำหนดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่  ในปี 2548-2549 สถานการณ์ศึกต่อต้านการบริโภคบุหรี่-เหล้า โดยเฉพาะเพื่อลดการมอมเมาในกลุ่มเยาวชน ก็ยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น และเป็นประเด็นที่สนใจใคร่รู้ของประชาชนในลำดับต้นๆเสมอมา

การต่อสู้เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ในปี 2548-2549

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร พ.ศ.2547 พบว่าประชากรที่สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11.3 ล้านคน โดยสูบเป็นประจำหรือสูบทุกวัน  9.6 ล้านคน กว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่สูบบุหรี่เริ่มสูบตั้งแต่เป็นเยาวชน  เยาวชนจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทบุหรี่หันมาสนใจและเริ่มหาทางเจาะกลุ่มเป้าหมายนี้ให้ได้  

ขณะที่รัฐบาลร่วมกับภาคประชาสังคมก็พยายามสร้างมาตรการที่เข้มข้นในปีที่ 2548 เพื่อวางเป้าหมายดูแลเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น  ดังเช่น การห้ามจำหน่ายบุหรี่และแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และการกำหนดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการบังคับใช้มาตรการในลักษณะนี้  หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้กฎหมายคำเตือนบนซองบุหรี่พบว่าผู้ที่เคยพบเห็นภาพบนซองบุหรี่แล้ว ร้อยละ 21เลิกสูบบุหรี่เมื่อเห็นภาพคำเตือนบนซอง  ร้อยละ 57 สูบบุหรี่น้อยลง และร้อยละ 22 ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป

แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้มากนัก เยาวชนยังคงสามารถหาซื้อบุหรี่ได้ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด และจากการโฆษณา ณ จุดขาย หรือการรับรู้จากสื่อต่างๆ ทำให้เยาวชนบางส่วนยังมีความอยากลองสูบบุหรี่อยู่  ในปี 2548 ต่อเนื่อง 2549 เราจึงเห็นมาตรการเชิงรุกใหม่ๆ เพื่อลดยอดจำหน่ายบุหรี่ลง

(1) ศึกเก็บบุหรี่จากชั้น ความสำคัญของการโฆษณา ณ จุดจำหน่ายต่อผู้ผลิตบุหรี่มีความจำเป็นสูงบริษัทผลิตบุหรี่มองว่าจุดจำหน่ายที่อยู่ตรงหน้าผู้ซื้อทำให้มีโอกาสสุดท้ายที่จะชี้ชวนให้ลูกค้าได้เลือกบุหรี่ยี่ห้อนั้นๆ และการได้จุดวางขายที่ดีย่อมทำให้ผู้สูบอาจตัดสินใจเลือกบุหรี่ของตนได้  การวางการโฆษณาบุหรี่ปะปนกับขนม ของขบเคี้ยว หมากฝรั่งและน้ำอัดลม จึงเป็นการจูงใจเด็กและเยาวชนให้หันมาสูบบุหรี่มากขึ้น  แต่ละปีบริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะใช้งบประมาณสูงถึงหนึ่งแสนล้านเหรียญหรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการโฆษณา ลดแลกแจกแถม และส่งเสริมการขาย ณ จุดซื้อ จากงบประมาณเพื่อทำการตลาดบุหรี่ทั้งหมดประมาณ 4.56 ล้านล้านบาท

รัฐบาลหันมาทำศึกกับการโฆษณา ณ จุดขาย โดยใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 8 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุ  โทรทัศน์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้โฆษณาได้โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้วันที่  24 กันยายน 2548  ผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อทั้งหมดต้องเก็บสินค้าลงจากชั้นวาง ผู้ฝ่าฝืนโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

จากผลประโยชน์และผลทางการค้าจำนวนมหาศาลที่จะกระทบต่อยอดขาย ทำให้มีการคัดค้านจากบริษัทเซเว่นอีเลเว่นและบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศ  โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายทุกทางส่งผลให้ต้องมีการยื่นตีความการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา  อย่างไรก็ตามผลจากการที่ทุกภาคส่วนของสังคมกดดันกลุ่มบริษัทที่คัดค้านอย่างหนัก  ทำให้บริษัทเซเว่นอีเลเว่นยอมจำนน  เป็นผลให้เรื่องการตีความกฎหมายจึงเป็นอันระงับไป 

(2) เพิ่มภาษีบุหรี่  ประเทศไทยไม่ได้ปรับเพดานภาษีบุหรี่มาเป็นเวลา 4 ปี ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น กำลังการซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อรายได้ประชากรเพิ่มร้อยละ 10 ยอดจำหน่ายบุหรี่จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เพดานภาษีที่นิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกระตุ้นให้มีการสูบบุหรี่มากขึ้น ยอดจำหน่ายบุหรี่ในปี 2547 จึงเพิ่มขึ้นจากปี 2544 จาก 1,727 ล้านซองเป็น 2,110 ล้านซอง ในเดือนกันยายน 2548 รัฐบาลจึงนำมาตรการทางภาษีมาใช้โดยปรับเพิ่มค่าแสตมป์ยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตให้สูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 79 เกือบชนเพดานภาษีสูงสุดตามพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ.2509 ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 80 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณของผู้บริโภคยาสูบลดลงราวร้อยละ 10 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนการแก้ไขกฎหมายขยายเพดานภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 80  ของมูลค่าบุหรี่เพื่อให้การปรับเพิ่มอัตราภาษีในครั้งต่อไปสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ติดกฎหมายโดยจะมีการเร่งให้เกิดขึ้นในปี 2549 และถ้าเพดานสูงถึงร้อยละ 200 หรือ 300 ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีเมื่อถึงเวลาก็สามารถปรับอัตราภาษีได้ทันทีจากการประเมินของโรงงานยาสูบคาดว่าในปี 2549 จะมีการบริโภคลดลงร้อยละ 7 แต่กรมสรรพสามิตประมาณการบริโภคจะลดลงร้อยละ 10-12 โดยการเพิ่มภาษีบุหรี่ครั้งนี้จะทำให้การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นอีกปีละ 3 พันล้านบาท

(3) การขยายพื้นที่ปลอดภัยต่อปอดของผู้ไม่สูบบุหรี่  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลอดบุหรี่แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ สถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองของสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่คุ้มครองสุขภาพของผู้สูบบุหรี่โดยมีข้อยกเว้น ในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ กำหนดเครื่องหมายของเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่และการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มี 31 ประเภท โดยเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเภท ได้แก่  ล็อบบี้โรงแรมที่ติดแอร์ทุกแห่ง สถานพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทยและธุรกิจบริการสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ และร้านเสริมสวยเพื่อสุขภาพ และแก้ไขประกาศเดิมซึ่งครอบคลุมเฉพาะตู้รถไฟชนิดปรับอากาศ  แต่ประกาศฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมตู้โดยสารรถไฟทั้งขบวน  โดยมาตรการดังกล่าวนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เป็นต้นไป  การเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่เป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือให้พ้นจากพิษของควันบุหรี่มือสองได้  อย่างน้อยก็ลดภาระโรคมะเร็งในกลุ่มของคนที่ไม่สูบบุหรี่ 


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333