การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำมัน โทรศัพท์ โดยนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะส่งผลกระทบต่อค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น เพราะกิจการเหล่านี้ต้องหากำไรจากการดำเนินการ ซึ่งย่อมกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไม่มีทางเลือก
เหตุผลที่มักอ้างถึงมีอยู่ 3 ข้อ คือ ประการแรก เรื่องเม็ดเงินในการลงทุน กิจการต่างๆ ต้องการเงินทุนเพื่อขยายการดำเนินการ และด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐจึงต้องเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ยืม และหนี้สิน ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินส่วนนี้ไปไม่น้อย หรือกล่าวได้ว่า เงินส่วนนี้ก็คือ เงินของประชาชนนั่นเอง ประการที่สอง คือปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเอง ที่มีโครงสร้างเทอะทะ ไม่คล่องตัว ซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และประการสุดท้ายคือแรงผลักดันภายนอก โดยเฉพาะข้อตกลงหรือพันธสัญญาที่ทำไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540
บนเวทีที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เราจะพบทั้งความคิดเห็นที่เห็นด้วย เห็นด้วยบางส่วน และคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังที่มีนักวิชาการบางคนมองว่าเหตุผลข้างต้นเป็นวัตถุประสงค์รองของการแปรรูป วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การปรับโครงสร้างกิจการ การเปิดให้มีการแข่งขัน เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด พื้นฐานความคิดลักษณะนี้ เป็นอิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่มีสถาบันเศรษฐกิจและการเงินโลก เป็นหัวหอกในการดำเนินการผลักดันการเปิดการค้าเสรีที่ขึ้นกับระบบตลาดและการแข่งขันโดยมองว่ารัฐไม่ควรเข้ามามีส่วนในกิจการต่างๆ แต่ควรปล่อยให้เอกชนทำ เพราะเอกชนจะทำได้ดีกว่า นักวิชาการบางคนชี้ว่าจากประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศ เช่น การแปรรูปไฟฟ้าของประเทศอังกฤษ พบว่ามีการคอรัปชั่นควบคู่มากับการแปรรูป และเมื่อเวลาผ่านไปจะพบเล่ห์ของเอกชนที่ขึ้นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องยอมรับโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
ดังนั้นจึงมีผู้ที่มองว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นไม่ควรทำ เพราะมีพื้นฐานความคิดว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่ามุ่งหากำไร ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐในด้านการให้บริการ และสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในชาติ
ความคิดที่ต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยนั้นมีมาตั้งแต่เมื่อเริ่มวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ที่จ้างผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกมาช่วยวางแผน และพยายามกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มบทบาทเอกชนในรัฐวิสาหกิจ ความคิดนี้ปรากฏในแผนพัฒนาฉบับต่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง มีเพียงการยุบรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นเท่านั้น ในเวลาต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น ประเทศไทยก็มีพันธกรณีในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO – World Trade Organization) ที่ให้มีการเปิดเสรีการค้าบริการ แรงผลักดันจากภายนอกนี้ สะท้อนถึงกระแสแนวคิดทุนนิยมที่ส่งอิทธิพลผ่านเข้ามาในองค์การระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก หรือบริษัทข้ามชาติ ซึ่งพยายามผลักดัน กดดันให้ประเทศต่างๆ ก้าวไปสู่ระบบทุนนิยม ด้วยการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ และผลประโยชน์สาธารณะจากวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ และประโยชน์ของภาคเอกชน