ภาวะหนี้ท่วมตัวไม่เพียงส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ส่งผลถึงการดำรงชีวิตในปัจจุบันของลูกหนี้และอนาคตที่มืดมนเพราะสิ้นไร้การออม มีรายได้เท่าไรก็ไปจบลงที่การชำระหนี้การเป็นหนี้คือความทุกข์สาหัสของลูกหนี้เมื่อไม่มีปัญญาจ่ายคืนได้ เพราะจะถูกกดดันอย่างหนักหน่วงจากเจ้าหนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่ทางออกที่ไม่พึงประสงค์ คือเกิดอาการเครียดจนซึมเศร้า เป็นโรคจิตประสาท จนถึงการฆ่าตัวตาย หรืออาจลงเอยด้วยการก่อคดีอาชญากรรม
ปัญหากลโกงของหนี้เงินด่วนต่างๆที่ปะทุเห็นชัดเจนในปี 2548 ชี้ว่าความยากจนคงจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทยเป็นแน่ เพราะแม้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนว่าประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ทว่าค่าครองชีพก็ทยานสูงขึ้นเทียมกันหรือสูงกว่าจนครอบครัวจำนวนมากเกิดปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ ต้องดิ้นรนขวนขวายกู้หนี้ยืมสินจนเกิดภาวะ “หนี้สินท่วมตัว” ซึ่งมีทั้งหนี้ที่เกิดจากความเต็มใจเพื่อสนองความต้องการทางด้านวัตถุ หนี้ที่เกิดจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจส่วนตัว และหนี้ไม่รู้จบจากความไร้เดียงสาไม่ทันเหลี่ยมคูทางธุรกิจบริการสินเชื่อหรือแก๊งเงินกู้นอกระบบ
ด้วยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยและลงทุนกันมากขึ้น โดยสนับสนุนธุรกิจให้บริการสินเชื่อทั้งที่เป็นสถาบันการเงินทางการอย่างธนาคาร และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารจนกลายเป็นแหล่งเงินกู้ที่เข้าถึงง่ายสำหรับประชาชน แต่การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย
ส่วนดีคือช่วยให้การดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตคล่องตัวขึ้น สามารถนำมาเป็นทุนเพื่อการใช้จ่ายในการสะสมสินทรัพย์ประเภททุนที่สามารถสร้างหรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สามารถลดต้นทุนจากการกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก
ส่วนเสียคือ ถ้าไม่มีวินัยทางการเงินที่ดีแล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายจะส่งผลเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายไปกับสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มเสื่อมค่าสูง ไม่ได้สร้างผลตอบแทนกลับคืนแต่กลับสร้างภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น
ภาวะหนี้สินมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อปัญหาความยากจน ดังรายงานเรื่อง “ปัญหาความยากจนในสังคมไทยกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือน” ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2547 ที่พบว่า การก่อหนี้ของประชาชนไทยยังคงเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นและยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ ในปี 2548 มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมของประชาชนและนัยของแนวโน้มคุณภาพของแรงงานหลังวัยเกษียณ ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ
ระดับการออมของครัวเรือนที่เคยอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คือจากระดับสูงสุดร้อยละ 35 ในปี 2534 ลดลงต่ำเหลือร้อยละ 31 ในปี 2546 การลดลงของการออมสุทธิภาครัฐและภาคครัวเรือนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การออมในภาพรวมของประเทศลดลง เป็นเพราะ
การออมภาคครัวเรือนลดลงจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทนเช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ การเพิ่มขึ้นของการบริโภคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมได้สะดวกขึ้น
ครัวเรือนทุกกลุ่มอายุมีการอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น อัตราการออมของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ปัจจัยที่ทำให้การออมของภาคครัวเรือนลดลงคือ การสามารถเข้าถึงการกู้ยืมได้สะดวกกว่าเดิม ทำให้เกิดชะล่าใจและไม่กังวลว่าเงินจะขาดมือเมื่อมีเหตุจำเป็น