10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2549
คนไข้ “ฟ้องหมอ” ความผุกร่อนของความสัมพันธ์หมอ-คนไข้

สถานการณ์การฟ้องร้องแพทย์ กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งด้านจำนวนคดีที่มีการฟ้องร้อง เรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภา ไปจนถึงการร้องเรียนกล่าวหาผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงประชาชนทั่วไป  ความสัมพันธ์ระหว่าง “หมอ”กับ “คนไข้” จะเดินไปในทิศทางใด และทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่สังคมต้องมองหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน

สถิติจำนวนกรณีแพทย์ถูกร้องเรียนต่อแพทยสภา

รายงานของแพทยสภาในเดือนมกราคม 2549 ได้สรุปจำนวนกรณีที่แพทย์ถูกร้องเรียนในปี 2548  ว่า มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา รวม 258  เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.8 ต่อจำนวนประชากรแพทย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ร้อยละ 4.1 เรื่อง ต่อจำนวนประชากรแสนคน  โดยเรื่องลำดับต้นๆ ที่ถูกร้องเรียน คือ มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม  และการโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ชี้ว่าสาเหตุของการฟ้องร้องแพทย์ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยวันละเกือบ 1 ครั้ง  มาจากหลายปัจจัยประกอบกันคือ มาตรฐานของวิชาชีพลดลง และความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ลดน้อยลง โดยเฉพาะการสื่อสารที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ การให้สัญญามากเกินไปจากหมอ  ผู้ป่วยมีความคาดหวังที่สูงขึ้น  การรักษาพยาบาลโรคบางโรคซับซ้อนขึ้น  ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินมาก  หมอไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติ ไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนตัดสินใจ ไม่บอกความจริงกับผู้ป่วย  เมื่อผู้ป่วยทราบความจริงจากผู้อื่นก็ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ

ณ เดือนมกราคม 2549 มีเรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของแพทยสภา ถึง 353 เรื่อง (คงค้างเรื่องเดิม 218 เรื่อง และ135 เรื่องในปี 2548)  ในจำนวนนี้แพทยสภาได้พิจารณาสิ้นสุดแล้ว  218 เรื่อง แยกเป็นเรื่องที่มีมูล 76 เรื่อง (ร้อยละ 35.5)  ไม่มีมูล 138 เรื่อง (ร้อยละ 64.5) และมีการจำหน่ายเรื่องส่งกลับอีกรวม 4 เรื่องสำหรับรอบปี 2548 จำนวนคดีที่มีมูลและผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการสอบสวนเรียบร้อยแล้ว มีรวม 154 เรื่อง  คณะกรรมการแพทยสภามีมติให้ส่งกลับและอื่นๆ 23 เรื่อง ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ 85 เรื่อง มีมติลงโทษ 46 เรื่อง แยกเป็น ว่ากล่าวตักเตือน 38 เรื่อง ภาคทัณฑ์ 7 เรื่อง และ พักใช้ใบอนุญาต 1 เรื่อง

ควรตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการก่อตั้งแพทยสภา มาตั้งแต่ปี 2511 มีการลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตแพทย์เพียง 2 ราย เท่านั้น

ข้อมูลข้างต้นนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดประชาชนหรือผู้บริโภคจึงมีการร้องเรียน กล่าวหาแพทย์ผ่านทางสื่อมวลชนมากขึ้น  รวมถึงการฟ้องร้องทางคดีที่มีขนาดและมูลค่าความเสียหายที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้น  สาเหตุส่วนหนึ่งคงมาจากกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีปัญหาในเรื่องความไม่โปร่งใสและคุณภาพของการตรวจสอบกันเองขององค์กรวิชาชีพ ที่สำคัญคือ ปัจจุบันประชาชนรับรู้ถึงความมี “สิทธิ” มีเสียงของตนเองมากขึ้น โอกาสในการเข้าถึงสื่อมวลชนมีมากขึ้น และสังคมให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากขึ้นด้วย


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333