10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2549
วิกฤตการณ์น้ำมันแพง กับการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน

กลางปี 2548 รัฐบาลเลิกแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล ปล่อยให้ราคาขึ้น-ลงของน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด ปัญหาน้ำมันราคาแพงก็ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทันที ขณะที่มาตรการประหยัดพลังงานดูเหมือนจะไปไม่ถึงไหน ทางรอดของประเทศไทยจึงต้องเร่งแสวงหาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง

รับมือน้ำมันแพงด้วยการ “อุดหนุน” ให้น้ำมันราคาถูก

ตลอดปี 2548 สถานการณ์พลังงานกลายเป็น “วิกฤตการณ์” ที่ประชาชนทุกคนต้องแบกรับภาระอย่างเต็มรูปแบบอันเนื่องมาจากการเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันของรัฐบาล  เค้าลางของปัญหาน้ำมันแพงเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2546 ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกถีบตัวสูงขึ้น จากประมาณ 1,200 บาทต่อบาเรลเป็น 2,000 บาทต่อบาเรล  เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 รัฐบาลจึงเริ่มเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล  การตรึงราคาน้ำมันในห้วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้คนไทยได้ใช้น้ำมันในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แต่รัฐบาลก็ต้องควักเงินอุดหนุนราคาน้ำมันถึงวันละประมาณ 80 ล้านบาท ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัดสินใจดำเนินการแทรกแซงราคาน้ำมันของรัฐบาลว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ไม่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และความพยายามที่จะช่วยกันค้นหาทางออกอย่างจริงจัง  รวมทั้งยังก่อให้เกิด        “ภาระหนี้” จำนวนมหาศาล 

ในที่สุดรัฐบาลจึงประกาศลอยตัวน้ำมันเบนซินเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547  แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังทำให้ราคาน้ำมันกลายเป็นประเด็น “การเมือง” เอาไปผูกไว้กับการหาเสียงและสร้างภาพลักษณ์กับชาวบ้าน โดยไม่บอกความจริงว่า เงินที่เอามาอุ้มราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ล้วนแต่เป็นเงินจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้นทั้งนี้เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 และเพียงแค่ 16 วันหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปราคาน้ำมันดีเซลก็ทยอยปรับราคาสูงขึ้น โดยในวันที่ 23 มีนาคม 2548 น้ำมันดีเซลปรับราคาสูงรวดเดียว 3 บาทต่อลิตร 

ต่อกรณีนี้ นายโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้บริหารบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่า มีผู้ได้ประโยชน์โดยมิชอบจากการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งนี้คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท จากการสต๊อคน้ำมันจำนวน 2,000 ล้านลิตร พร้อมกับยกเป็นบทเรียนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากบริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นเจ้าของตลาดน้ำมันดีเซลเกือบครึ่ง เมื่อเข้าตลาดหุ้นแล้วก็ต้องทำเพื่อประโยชน์ให้กับผู้เล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไม่มีคนดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคแต่ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้งบริษัทน้ำมันรายใหญ่อย่าง ปตท. ต่างออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวและเรื่องนี้ก็ค่อยๆเลือนหายไปจากความสนใจของสังคม

น้ำมันราคาแพง ค่าครองชีพพุ่ง

ในที่สุด 13 กรกฎาคม 2548 รัฐบาลจึงประกาศลอยตัวน้ำมันดีเซล แต่ยังคงลดภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลให้ลิตรละ 1.1 บาทต่อลิตร โดยมีตัวเลข “หนี้กองทุนน้ำมัน” อันเนื่องมาจากการนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันนานนับปีรวม 92,070 ล้านบาท(ชดเชยเบนซิน 286 วัน และดีเซล 551 วัน)  และผลจากการชดเชยราคาน้ำมันทำให้รัฐบาลต้องหาทางออกด้วยการออกพันธบัตร ตั้งวงเงินไว้ที่ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากคำนวณดอกเบี้ยโดยประมาณที่ร้อยละ 5 ต่อปี เท่ากับผู้ใช้น้ำมันต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยปีละ 4,000 ล้านบาท พันธบัตรนี้มีอายุ 5 ปี เท่ากับต้องเสียดอกเบี้ยรวม 20,000 ล้านบาท!


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333