ลงานของรัฐบาลชุดที่มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่เด่นชัดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเปิดฉากสู้กับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและข้ามชาติ ด้วยการประกาศจะห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 100% คือ ห้ามการโฆษณาทุกช่องทางไม่ว่าจะผ่านสื่อชนิดใดก็ตาม ตลอด 24 ชั่วโมงและเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนกลายเป็นประเด็นร้อนเรื่องหนึ่งในช่วงปลายปี 2549 ต่อ ปี 2550
หากเราย้อนกลับไปมองนโยบายว่าด้วยสุราในประวัติศาสตร์ของไทยก็พบว่า สังคมไทยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเรื่องเหล้าที่ย้อนแย้งกันเองในตัวมาตั้งแต่อดีต จากที่ชาวบ้านเคยมีการผลิตและบริโภคสุราได้โดยเสรี จนกระทั่งรัฐเข้ามากำหนดแนวทางผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุรา ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนจากการผูกขาดการผลิตสุรามาสู่การเปิดเสรีการผลิตสุรา และสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายสุรา
จนถึงยุคปัจจุบันเริ่มจากปี 2542 กระทรวงการคลังได้จัดทำแผนการประมูลโรงงานสุราของรัฐ และนโยบายบริหารงานสุรา เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนโยบายสำคัญ 3 ลักษณะ เรียงตามรูปแบบการเปิดเสรีจากมากไปหาน้อยคือ
เปิดเสรีสุรากลั่นทั้งหมด ครอบคลุมสุราพิเศษ สุราปรุงพิเศษ สุราผสม สุราขาว
เปิดเสรีสุราสีทั้งหมด ครอบคลุมสุราพิเศษ สุราปรุงพิเศษ สุราผสม แต่ยกเว้นสุราขาว ที่ให้แข่งขันเฉพาะโรงงานสุราของรัฐเท่านั้น
เปิดเสรีเฉพาะสุราพิเศษ ส่วนสุราปรุงพิเศษ สุราผสม และสุราขาวให้แข่งขันเฉพาะโรงงานสุราของรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 เห็นชอบให้ดำเนินนโยบายตามรูปแบบที่หนึ่งคือการเปิดเสรีสุราทั้งหมด โดยมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอัตราภาษีเพื่อเป็นรายได้ของรัฐเช่นที่เคย
ความชัดเจนของนโยบายเรื่องเหล้าในปัจจุบันที่เห็นกันชัดๆ คือความขัดแย้งกันเองระหว่างนโยบายสนับสนุนการผลิตและนำมาสู่การเปิดเสรีสุรา กับนโยบายควบคุมการบริโภคสุรา โดยเฉพาะการทยอยออกมาตรการต่าง ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการควบคุมการเข้าถึงและหาซื้อ ด้วยการจำกัดเวลาให้ขายได้ในระหว่างเวลาที่กำหนด (11.00-14.00 และ 17.00-24.00) จำกัดอายุผู้ซื้อและดื่มสุราไม่ให้ต่ำกว่า 18 ปี และห้ามจำหน่ายสุราในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น มาตรการจำกัดการดื่มสุรา ด้วยการใช้พ.ร.บ.สถานบริการ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546 มิให้จำหน่ายสุราให้แก่ผู้มีอาการมึนเมา และห้ามผู้มีอายุไม่ถึง 20 ปีเข้าสถานบริการ
มาตรการลดอุบัติเหตุ กำหนดมิให้ผู้ขับขี่ขับรถขณะเมาสุรา และมีการเพิ่มโทษให้สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการควบคุมปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับ นอกจากนี้ยังมี มาตรการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการกำหนดให้สุราเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากคำเตือนแสดงข้อความเตือนถึงผลของการบริโภคสุราบนผลิตภัณฑ์ และกำหนดมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับภาคประชาสังคมที่ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสการลด ละ เลิกดื่มสุราในสังคมไทย เป็นต้น
ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ที่เกิดจากการบริโภคสุราและอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของคนไทยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งของการออกมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อหวังผลให้การบริโภคสุราลดจำนวนลง ดังที่รายงานวิจัยของเครือข่ายวิจัยถนนปลอดภัยชี้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรสูงถึง 14 เท่า ผู้ขับขี่ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บสาหัสมากกว่าผู้ขับขี่ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำกว่าถึง 36 เท่า และสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่คือ การเมาสุรามากเป็นอันดับ 1 สูงถึงร้อยละ 42 ดังนั้น หากรัฐบาลและสังคมช่วยกันหยุดผู้ขับขี่ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จะป้องกันการบาดเจ็บสาหัสเฉพาะตัวผู้ขับเองได้ถึงร้อยละ 45 โดยต้องใช้ทั้งมาตรการรณรงค์กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น
ท่ามกลางความขัดแย้งของการเปิดเสรีสนับสนุนการผลิตสุรา การจำกัดโอกาสและการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ผ่านมานั้นยังไม่ประสบผลเพียงพอต่อการลด ละ เลิกสุรา มาตรการควบคุมที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐออกมาในปลายปี 2549 นี้คือ การประกาศควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อกลางแจ้งทั้งหมดตลอด 24 ชั่วโมงของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ที่สำคัญคือ การเสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อน มีการถกเถียงกว้างขวาง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่รัฐเข้ามาแทรกแซงภาคธุรกิจสุราด้วยการจำกัดช่องทางการตลาดและการส่งเสริมการขาย ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
ร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ เสนอโดยนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คบอช.) อยู่ด้วย กำหนดแนวทางสำคัญคือ
ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบในทุกสื่อตลอด 24 ชั่วโมงยกเว้นรายการกีฬาถ่ายทอดสด
ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ ชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อผู้ผลิตในสื่อทุกชนิด
ห้ามจัดกิจกรรมชิงโชคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แอลกอฮอล์ และ
งดออกใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่เฉพาะ เช่น ลานเบียร์ แต่อดีตนายกฯทักษิณขอให้มีการทบทวนการยก (ร่าง) พ.ร.บ. ใหม่ โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานมีส่วนในการพิจารณาร่างด้วย ซึ่งรวมทั้งผู้ประกอบการและตัวแทนโฆษณา เนื่องจากคำนึงถึงปัจจัยด้านการลงทุนของนักธุรกิจที่อาจทำให้รัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียง หากกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในกรณีนี้