ตลอดปี พ.ศ. 2549 ต่อ 2550 เกิดความถี่ของสถานการณ์ “ผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน นอกเหนือจากข่าวที่เคยรับรู้กันถึงการวิวาทด้วยอาวุธระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษาต่างสถาบันจนถึงขั้นเสียชีวิต ยังเกิดภาพใหม่ๆ แบบนักเรียนหญิงตบตีกันเองจนเลือดสาด ครูลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงทั้งทางกายและทางจิตใจ ล้วนนำมาซึ่งคำถามว่า โรงเรียนยังคงเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอยู่หรือไม่?
โรงเรียนเป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเด็กที่อยู่ในวัยเรียน แต่ผลการศึกษาเครื่องชี้วัดคนไทยสุขภาพดีของแพทย์หญิงพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ กลับพบว่ามีโรงเรียนที่สอนทักษะชีวิตในการแก้ปัญหา โดยปฏิเสธไม่ใช้ความรุนแรงเพียงร้อยละ 59 ของโรงเรียนทั้งหมดเท่านั้น ปี 2549 มีสถานการณ์ที่เผยให้เห็นการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการปัญหาที่สั่นสะเทือนแวดวงการศึกษาไทยถี่มากขึ้นในรั้วโรงเรียน
เริ่มจากต้นปีเมื่อปรากฏข่าวเด็กนักเรียนหญิงวัย 14 ปี ซึ่งเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ ถูกผู้ปกครองพาขึ้นโรงพักในสภาพร่างกายที่บอบช้ำ โดยเฉพาะบริเวณติ่งหูและแขนซ้ายมีบาดแผลถูกกัดจนเลือดสาด เพราะถูกนักเรียนหญิงรุ่นพี่จำนวน 2 คนรุมทำร้ายเนื่องจากไม่พอใจที่ไปคุยกับนักเรียนชายร่วมโรงเรียน ซึ่งเป็นแฟนของนักเรียนหญิงรุ่นพี่ จนกระทั่งมีการรุมทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นระหว่างการนัดหมายให้ไปเจรจาปรับความเข้าใจกันหลังเลิกเรียนที่บริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียน
ไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ดังกล่าว การยกพวกตีกันระหว่างนักเรียนหญิงระดับมัธยมกว่า 30 คนก็เกิดขึ้นกลางตลาดนัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมีชาวบ้านมุงดูจำนวนมาก จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องคุมตัวไปสอบสวนที่โรงพัก ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการแย่งผู้ชายตามมาด้วยข่าวนักเรียนหญิงพาพวกบุกทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครศรีธรรรมราช เพราะไม่พอใจครูฝ่ายปกครองที่จับได้ว่า มีนักเรียนหญิงบางคนในกลุ่มนั้นขายบริการและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ
ดูเหมือนว่าการทะเลาะวิวาทของนักเรียน โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาจะเพิ่มความถี่มากยิ่งขึ้น แต่เหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความตื่นตะลึงของสังคมไทยมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการทำร้ายร่างกายกันของนักเรียนมัธยมหญิงวัย 14-15 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี จนผู้ถูกทำร้ายมีหน้าตาบวมปูดและร่างกายบอบช้ำจนน่าตกใจ ที่สำคัญที่สุดก็คือเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบันทึกภาพไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือหรือที่เรียกกันว่า คลิปวีดีโอ ซึ่งกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในเวลาต่อมาเมื่อมีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ภาพและเสียงของเหตุร้ายที่เกิดขึ้นถูกเผยแพร่ผ่านโทรศัพท์มือถือไปทั่วทั้งโรงเรียนเพื่อประจานให้อับอายอีกด้วย
แน่นอนว่าภาพและเสียงของการทำร้ายร่างกายทั้งจิกผม ตบ ตี กระทืบใบหน้าและศีรษะ จนผู้ถูกทำร้ายทรุดลงไปกองกับพื้นท่ามกลางเสียงเชียร์อย่างสนุกสนานของ “เด็กหญิง” เหล่านั้น “เขย่า” สังคมไทยต้องหันมาตั้งคำถามอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นว่า โรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ชิดกับบุตรหลานไม่แพ้สังคมครอบครัวกำลังเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคาม” อย่างไรบ้าง
เหตุรุนแรงนี้ทำให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น สั่งการให้นักวิชาการสาธารณสุขหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนหญิงกลุ่มดังกล่าว ซึ่งผลสรุปรายงานผลทดสอบทางจิตวิทยาให้คำตอบออกมาว่า “นักเรียนหญิงที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์มีลักษณะร่วมของนักเรียนที่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งพบได้ทั่วไปในสถานศึกษาต่างๆ โดยในภาพรวมเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการจัดการความขัดแย้งต่ำ คุมอารมณ์ได้ไม่ดี ขาดวินัย และการเคารพระเบียบต่อสังคม รวมทั้งมีพื้นฐานความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ดี ทำให้ประเมินว่า โอกาสในการเกิดลักษณะนี้ในสถานศึกษาต่างๆ ในอนาคตมีอยู่สูง" ทำให้นายจาตุรนต์ระบุว่าจะนำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กที่เคยจัดทำไว้สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
เดิมทีเดียวนั้น เด็กนักเรียนชายดูจะผูกขาดการก่อเหตุวิวาทไม่ว่าจะระหว่างเพื่อนร่วมสถาบันหรือต่างสถาบันมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนชายจากสถาบันอาชีวศึกษาที่นานวันจะทวีความถี่และรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั้งอาวุธ การบาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งรวมถึงผู้ไม่เกี่ยวข้องที่โดนลูกหลงจากการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงศึกษาธิการต้องมีโครงการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และการจัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หยุดค่านิยมการก่อเหตุรุนแรงรวมถึงการดำเนินคดีในกรณีร้ายแรง
แต่การเปลี่ยนโฉมหน้าของผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทจากเด็กนักเรียนชายมาเป็นเด็กนักเรียนหญิง โดยเฉพาะเด็กมัธยมในรอบปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดและสังคมของเด็กนักเรียนหญิงเหล่านี้
ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกผู้หนึ่งที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยกล่าวว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่เรียกว่าการปลดปล่อยเสรีภาพของนักเรียนหญิง จากเดิมที่นักเรียนหญิงต้องอยู่ในกรอบ แต่ทุกวันนี้เด็กผู้หญิงจะกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้นในหลายๆ เรื่อง อาทิ การแข่งขันกันแต่งกายเพราะมองว่าร่างกายเป็นของฉัน การมีเสรีภาพในการคบเพื่อนต่างเพศ และพยายามสร้างปมเด่นในสังคมของเด็กๆ เพื่อคุยโอ้อวดถึงประสบการณ์การมีแฟน และมีบางกิจกรรมที่ต้องทำให้สังคมยอมรับ ฉะนั้นเมื่อมีคนมาแย่งแฟนก็ต้องแสดงกิจกรรมให้ดู เช่น ลากไปตบ ด่า เป็นต้น
เช่นเดียวกับการตั้งข้อสังเกตของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผ่านบทความว่า “เป็นสิ่งที่แปลกตาสำหรับคนรุ่นผมก็คือ นักมวยเป็นผู้หญิง เพราะความสัมพันธ์แบบพบกันหลังโรงเรียนในคนรุ่นผมเป็นวัฒนธรรมของผู้ชาย” และยอมรับว่าวัฒนธรรมของนักเรียนหญิงได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยใช้วิธีการของเด็กผู้ชายในการระงับความขัดแย้ง
แทบจะกล่าวได้ว่าในปัจจุบันเด็กนักเรียนชายหรือหญิงล้วนมีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกันอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการไถเงินเพื่อนร่วมห้องเรียน (มาเฟียเด็ก) เล่นการพนัน (เป่ายิงฉุบแก้ผ้า, แทงบอล) จัดปาร์ตี้ยาเสพติด และมั่วสุมทางเพศ เป็นต้น
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ได้เปิดเผยผลการวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่ามีเด็กที่ตกอยู่ในวัฏจักรของความรุนแรงและการใช้กำลังระหว่างเพื่อนด้วยกันมากถึง 7 แสนคน หรือร้อยละ 10 จากจำนวนเด็กนักเรียนในระบบรวม 7 ล้านคน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยตกอยู่ในเบ้าหลอมของความรุนแรงในสังคมคล้ายๆ กัน เพราะเงื่อนไขที่ส่งให้เด็กเข้าสู่พฤติกรรมความรุนแรงมาจากหลายทาง ทั้งจากครอบครัวแตกแยกที่ทำให้เด็กเกิดความเก็บกด อิทธิพลของสื่อที่ทำให้เด็กเกิดความชาชินกับความรุนแรงที่เห็น และพื้นฐานทางสังคมโดยเฉพาะการทำให้เด็กเข้าถึงอบายมุขได้ง่าย ซึ่งหากเงื่อนไขทางสังคมทั้ง 3 ประการยังไม่เปลี่ยน ก็ทำนายได้ว่าความรุนแรงในสังคมไทยจะไม่ลดลงอย่างแน่นอน ทั้งนี้หนทางแก้ไขในระยะยาวจะต้องทำให้เด็กและวัยรุ่นรู้จักวิธีจัดการความรุนแรง และโรงเรียนควรสอนทักษะการใช้ชีวิตมากขึ้น ให้รู้จักคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
จากรายงานสรุปสถานการณ์ในช่วงปลายปี 2549 ของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด ระบุว่าในรอบปี 2549 พบแนวโน้มว่าเด็กจะอยู่ห่างจากพ่อแม่มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กประถมและเด็กมัธยม และมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนั้นยังพบความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาในลักษณะ “ชุดของปัญหา” อีกด้วย เช่น กรณีจังหวัดใดมีอัตราเด็กดื่มสุราก็มักมีอัตราเด็กเสพสื่อลามกมาก และเด็กมีเพศสัมพันธ์สูงตามไปด้วย หรือจังหวัดใดมีเด็กเล่นพนันบอลมากก็มักมีอัตราการขู่กรรโชกและทำร้ายร่างกายในโรงเรียนสูงตามไปด้วย