10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2550
วิกฤตน้ำท่วมซ้ำซาก ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภัยธรรมชาติรูปแบบอื่นๆ  แม้ในอดีตบ้านเมืองของเราจะเผชิญกับอุทกภัยร้ายแรงมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ล้วนเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เว้นช่วงห่างค่อนข้างมากซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์น้ำท่วมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี 2549 ที่แผลงฤทธิ์บ่อยครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันและทวีความรุนแรงขึ้นจนน่าจะเรียกได้ว่า “เข้าขั้นวิกฤต”  ขณะที่ปัญหา ‘แล้งซ้ำซาก’ ก็เป็นปัญหาฮิตไม่เลิกเมื่อฤดูร้อนมาถึงในทุกๆปี

พ.ศ. 2549 ปีแห่งวิกฤตอุทกภัย

วิกฤตน้ำท่วมในปี 2549 นับเป็นปีที่รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ดูตาราง 1) สถานการณ์ความเดือดร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่อำเภอลับแล อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งหลายพื้นที่ในจังหวัดแพร่ ลำปาง และน่าน

พอสองเดือนต่อมา ก็เกิดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยทำให้ฝนตกหนักมาก จนเกิดน้ำท่วมระลอกที่สองขึ้นในเดือนกรกฎาคม สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 22 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

เดือนสิงหาคมเป็นห้วงเวลาที่ภัยธรรมชาติเล่นงานประเทศไทยอย่างหนักหน่วง ภาคใต้ตอนบนมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ส่วนทางภาคเหนือ มีร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือทำให้ฝนตกหนักมากในจังหวัดน่าน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปลายเดือนสิงหาคมฝนยังคงตกหนักมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย และตาก

ช่วงเดือนกันยายน ยังคงมีร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ผนวกกับความแรงของพายุดีเปรสชั่นช้างสารซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อต้นเดือนตุลาคม คือตัวการของวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศ พอปลายเดือนพฤศจิกายนต่อธันวาคมถึงต้นมกราคม 2550 ก็เกิดคลื่นยักษ์พร้อมลมทะเลแรงผิดปกติโหมเข้าทำลายบริเวณชายฝั่งในหลายจังหวัดภาคใต้ทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามันตั้งแต่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และตรังจนเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ชัดเจนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครอบคลุม 47 จังหวัด 439 อำเภอ ทั่วทุกภาคของประเทศ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนถึง 1.42 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 6.17 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 337 ราย มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นสูงถึง 7,707 ล้านบาท

เจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วม

น้ำปริมาณมหาศาลที่ไหลเข้าท่วมหลายจังหวัด ไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน ถนนหนทาง โรงเรียน ศาสนสถาน พื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ แต่มันยังนำมาซึ่งความเจ็บป่วยทางกาย ยิ่งท่วมขังอยู่นานวัน ก็ยิ่งทวีความสกปรกมากขึ้น โอกาสที่ผู้ประสบภัยจะเจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำจึงเพิ่มขึ้นจากสภาวะน้ำท่วมช่วงแรกๆ หลายเท่าตัวอาการเจ็บป่วยทางกายอันดับต้นๆ ที่มักเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย

  1. โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อรา ซึ่งมีสาเหตุจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานจนผิวหนังลอกเป็นขุยและพุพอง จุดที่พบบ่อยคือบริเวณซอกนิ้ว แต่อาจลุกลามไปยังฝ่าเท้าและเล็บเท้าได้เช่นกัน หลังเดินลุยน้ำทุกครั้งจึงต้องล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้า รองเท้าที่เปียกชื้น

  2. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ปอดอักเสบ ปอดบวม เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในอากาศเข้าสู่ร่างกาย ความอับชื้นและสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลง จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

  3. โรคตาแดง ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสจนเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการใช้น้ำไม่สะอาดล้างหน้า การใช้มือสกปรกขยี้ตา การใช้ผ้าสกปรกเช็ดตา หรือติดต่อจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย แม้จะไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่อาจทำให้ตามัวเพราะเชื้อลุกลามเข้ากระจกตา ป้องกันได้โดยล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ถ้าฝุ่นเข้าตาควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที และอย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา

  4. โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปะปน ป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาดบรรจุขวด และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร 

  5. โรคติดเชื้อทางระบบผิวหนัง มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ ที่พบบ่อยคือโรคเลปโตสไปโรซิสหรือฉี่หนู ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงตาแดง คอแข็ง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ หากปล่อยไว้จะถึงขั้นตับ-ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด

  6. อันตรายจากสัตว์มีพิษต่างๆ ได้แก่ งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งมักหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน

ผลสรุปด้านการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพทางกายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม ถึง 16 ธันวาคม 2549 รายงานว่า มีผู้ประสบอุทกภัยที่เจ็บป่วยด้วยโรคจากน้ำท่วมรวม 757,413 ราย โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ น้ำกัดเท้า 312,703 ราย รองลงมาเป็นโรคผื่นคัน 96,436 ราย และไข้หวัด 87,077 ราย ส่วนโรคติดต่อที่มาพร้อมกับน้ำท่วมพบเพียง 2 โรค คือ โรคตาแดงและโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถควบคุมป้องกันได้ จึงไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333