แม้จะมีการรณรงค์ให้ลด และคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ แต่ปริมาณขยะมูลฝอยยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีรูปแบบและองค์ประกอบที่ซับซ้อนยากต่อการกำจัดมากยิ่งขึ้น ขณะที่การแสวงหาช่องทางจัดการกับขยะกองโตก็นำมาซึ่งความขัดแย้งของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อีก 3 ปีข้างหน้าสังคมไทยต้องเผชิญปัญหา...ขยะล้นเมือง
ต้นปี 2550 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี ออกคำเตือนว่า “ขยะ” จะก่อปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชีย
ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นวังวนดังกล่าว สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดชัดเจนว่าปัญหาขยะถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้เป็นเพราะมีการคาดการณ์ตัวเลขการผลิตขยะของคนไทยในปี 2550 ว่าจะสูงถึง 14.85 ล้านตันต่อปี หรือวันละ 40,690 ตัน ซึ่งสูงกว่าปี 2549 ประมาณ 0.25 ล้านตัน ที่สำคัญก็คือประเทศไทยมีขีดความสามารถในการจัดการขยะอย่างถูกต้องเพียงแค่ 14,790 ตันต่อวัน หรือเพียงแค่ 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แน่นอนว่า “ขยะตกค้าง” ตามที่ต่างๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อผลกระทบไม่แพ้การกำจัดขยะด้วยวิธีกองบนพื้นแล้วจุดไฟเผา เพราะก่อปัญหาทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นั่นคือ อากาศเสีย จากการเผาขยะกลางแจ้งจนเกิดควันและมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย จากกองขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นดิน และเมื่อฝนตก น้ำเสียจากกองขยะก็ไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ แหล่งพาหะนำโรค จากหนูและแมลงวันที่อาศัยอยู่ในกองขยะ เหตุรำคาญและความไม่น่าดู จากกองขยะที่ตกค้างและส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
การกระตุ้นการบริโภคถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม เมื่อสังคมมีความเป็นบริโภคนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ เพื่อประหยัดต้นทุน และผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในราคาถูก ประกอบกับในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจได้นำกลยุทธ์ทางการตลาด มาใช้ในการกระตุ้นการใช้สินค้าและบริการ โดยการโฆษณาผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซด์ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แจกใบปลิว หรือแจกเป็นของแถม ของทดลองใช้ ขณะที่ประชาชนได้เห็นสินค้าเกิดใหม่ขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ของใหม่คือของดี ส่วนขยะ มีนัยยะหมายถึง ของเก่า ล้าสมัย ของเหลือ ของเสีย ใช้การไม่ได้ ไม่สวย หรือของไม่ดี ระบบวิธีคิดนี้ ทำให้สินค้าเก่าถูกมองว่าหมดคุณค่า และกลายเป็นขยะภายในเวลาอันรวดเร็ว
ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดมากที่สุดในเขตที่คนอยู่หนาแน่น เขตศูนย์การค้า ตลาด ย่านธุรกิจ เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว เห็นได้ว่าการทิ้งขยะต่อคนของคนในเมือง จะมากกว่าคนชนบทเกือบ 2 เท่า โดยกรุงเทพมหานครอัตราการเกิดขยะอยู่ที่ 1.5 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน ขณะที่ในชนบทการเกิดขยะอยู่ที่ 0.4-0.6 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน ยิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วยแล้ว การเกิดขยะจะสูงมากยิ่งขึ้น เช่น ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี อัตราการเกิดขยะอยู่ที่ 2.6 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน ส่วนเมืองอุตสาหกรรมมีการเกิดขยะต่อคนสูงสุดคือ 4.3 กิโลกรัมต่อวัน เช่น ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 6.6 เท่า (ดูตาราง)
หากพิจารณาเปรียบเทียบเมืองกับระดับความเจริญโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเป็นตัววัด กับปริมาณขยะต่อคนต่อวันข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (2546) ชี้ว่า ยิ่งจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูง อัตราการเกิดขยะต่อคนก็สูงตามไปด้วย ขยะกับความเจริญจึงเป็นของคู่กัน ยกเว้นจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเช่นจังหวัดภูเก็ตมีสัดส่วนขยะต่อคนสูงที่สุดทั้งๆ ที่รายได้ต่ำกว่าบางจังหวัด
ขยะอันตรายสมัยใหม่ที่คนเมืองกำลังเผชิญ และต้องเผชิญในอนาคตหากยังห่างไกลจากวิธีกำจัดที่มีประสิทธิภาพ ขยะสมัยนี้ที่ควรกล่าวถึง คือ 'ขยะอิเลคทรอนิกส์'ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมพ่วง คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเพลง และวีดิโอ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯลฯ ที่มีรุ่นใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ ออกมาจูงใจผู้บริโภคตลอดเวลา อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อสิ้นสภาพ ก็กลายเป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ กรมควบคุมมลพิษ ประมาณว่าในปี 2550 ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และจอคอมพิวเตอร์ มากถึง 3.37 ล้านชิ้น และยังมีแนวโน้มว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยคาดว่าภายในปี 2555 ประเทศไทยจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 5 ล้านชิ้น