10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2563
บุหรี่ไฟฟ้า: มหันตภัยยุค 4.0 ที่คุกคามสุขภาวะคนไทย

บุหรี่ไฟฟ้าประดิษฐ์ขึ้น โดยหวังสร้าง “ทางเลือก” ให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบธรรมดาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนเกิดความเชื่อผิด ๆ ว่าปลอดภัย อันตรายน้อยกว่าและนำมาใช้เพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้ รายงานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษและอันตรายมากกว่าบุหรี่แบบธรรมดา องค์การอนามัยโลกจึงประกาศว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการเลิกบุหรี่ ความเป็นจริงคือ วิธีเลิกสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้านี้ได้ผลต่ำกว่าการใช้วิธีอื่น และยังทำให้ติดทั้งสองอย่างอีกด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าประดิษฐ์โดยเภสัชกรจีนเมื่อ พ.ศ. 2546โดยหวังสร้าง “ทางเลือก” ให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบธรรมดาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สินค้า” ที่ทำรายได้มหาศาล เพราะตรงกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่อยากเสพความแปลก เมื่อถูกกระแสสังคมออนไลน์โถมเข้าใส่แบบไม่ให้โอกาสได้ไตร่ตรอง ผู้สูบจึงหลงประเด็น เกิดความเชื่อผิด ๆ ว่าปลอดภัย อันตรายน้อยกว่าและนำมาใช้เพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้ แต่ความจริงพบว่า แม้ตัวผู้ประดิษฐ์เองก็เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้และยังติดบุหรี่ทั้งสองอย่างอีกด้วย เมื่อ พ.ศ. 2558 อังกฤษเคยรายงานว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบธรรมดาร้อยละ 95 นั้น ได้ถูกอินเดียยกประเด็นขึ้นหักล้าง1 โดยชี้ว่ารายงานนั้นเป็นแบบจำลองกึ่งสมมุติฐานจากความเห็นที่ไม่มีหลักฐานทางคลินิกและระบาดวิทยา และนักวิชาการผู้ร่วมเขียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากอินเดียประสบปัญหาเกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น และพบว่าผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ร้อยละ 80 ยังคงติดนิโคติน ตรงกับข้อมูลของอเมริกาที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสพติด เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุที่น้อยกว่าเดิม2 และรายงานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษและอันตรายมากกว่าบุหรี่แบบธรรมดา เช่น ไอความร้อนที่สูงมากทำลายเซลล์เยื่อบุทางหายใจ3 องค์การอนามัยโลกจึงประกาศว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการเลิกบุหรี่4 บทความนี้เป็นการอภิปรายถึงสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าในไทยและในต่างประเทศ ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ การเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย

สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า-บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ

​บุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ส่งพลังงานไปที่ชุดทำความร้อนเพื่อระเหยสารนิโคตินให้กลายเป็นไอ สูดเข้าสู่ร่างกาย ประกอบด้วยตลับเก็บน้ำยานิโคตินผสมกับสารปรุงแต่งกลิ่นรสและสารต่าง ๆ เพื่อทำให้เด็กชอบ จูงใจให้หัดสูบง่ายจนติดและเลิกสูบยาก5 ซึ่งสารปรุงแต่งรสเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็งได้ สามารถปรับระดับให้ไอละอองนิโคตินละเอียดและมากขึ้น เพื่อเพิ่มนิโคตินให้เข้าสู่ร่างกายมากตามต้องการ ไอละอองเหล่านี้สามารถทำลายสุขภาพผู้ที่อยู่รอบข้างแบบควันบุหรี่มือสองและมือสามได้ด้วย6 บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นแรก ทำรูปร่างแบบบุหรี่ทั่วไป รุ่นที่สองปรับเปลี่ยนแบบเหมือนปากกาหรือหลอดโลหะ รุ่นที่สามเปลี่ยนเป็นตัวทำให้นิโคตินเหลวระเหยกลายเป็นไอ (Advanced personalized vaporizer) และรุ่นสี่ที่ใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า Vape หรือ Pod ออกแบบให้เข้ากับ Life style คนรุ่นใหม่ คือ บรรจุนิโคตินในตลับสำเร็จรูป ขนาดกะทัดรัดคล้ายแฟลชไดร๊ฟ สามารถชาร์จไฟกับคอมพิวเตอร์ จัดเป็นบุหรี่ประเภทใช้ความร้อนแบบไม่เผาไหม้ (Heat-not-burn) หรือ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดแห้ง (Heated Tobacco Product, HTP) ตัวอย่าง คือ IQOS 


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333