ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม ผลของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวทำ˝ˇให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปควบคุมดูแลเรื่องราคายา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ได้ ประเด็นดังกล่าวมีการพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน เรื่องนี้หากมองแต่เพียงผิวเผินก็แค่เรื่องการควบคุมราคาสินค้าอย่างหนึ่งจากมุมมองทางเศรษฐกิจ แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น เรื่องนี้ได้สะท้อนมิติทางสังคมที่เน้นการมีสุขภาพดีและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุมตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ผลของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวทำให้กระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปควบคุมดูแลเรื่องราคายา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ได้ ข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นที่พูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน เรื่องนี้หากมองแต่เพียงผิวเผินก็แค่เรื่องการควบคุมราคาสินค้าอย่างหนึ่งจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากบริการทางการแพทย์เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มุ่งแสวงหา
กำไรและสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐทั้งในรูปของภาษีและการนำรายได้เข้าประเทศจากชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการด้านสุขภาพ แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น เรื่องนี้ได้สะท้อนมิติทางสังคมในมุมมองด้านสุขภาพที่เน้นการมีสุขภาพดีและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรเป็นหลักด้วยเช่นกัน บทความนี้จะเป็นการอภิปรายมุมมองด้านสุขภาพจากมิติทางสังคมและมิติทางเศรษฐกิจ ข้อมูลความก้าวหน้าของการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 เหตุผลความจำเป็นที่ผู้บริโภคเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลเอกชน และข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันของรัฐ ผู้บริโภคและโรงพยาบาลเอกชน
มุมมองด้านสุขภาพจากมิติทางสังคม vs มิติทางเศรษฐกิจ
ในอดีตเรื่องสุขภาพหรือการสาธารณสุขเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เมื่อสังคมเกิดการรวมกลุ่มขึ้นเป็นรัฐ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีระบบการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่จึงมองว่าสุขภาพคือความมั่นคงของรัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแรงงานและทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรัฐ ทำให้รัฐสมัยใหม่มองมิติสุขภาพที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ สุขภาพเป็นเรื่องที่รัฐควรเข้ามาควบคุม บริหารจัดการ กำหนดนโยบาย เพื่อให้เป็นไปในแนวทางที่รัฐต้องการ เนื่องจากรัฐต้องการประชากรที่มีคุณภาพ มีความเฉลียวฉลาด มีร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อสนองตอบต่อกิจกรรมของรัฐในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันแนวคิดนี้ยังพัฒนาต่อยอดเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อเป้าหมายคือการมีสุขภาพดีของประชากรนั่นเอง