บทความสั้น
โควิด-19 กับพฤติกรรมสุขภาพ (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา (คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย)
ตัวชี้วัดสุขภาพ | ธันวาคม 2564

พฤติกรรมเสี่ยงเป็นอีกมิติของพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องจับตามองในช่วงการระบาดของโควิด-19 การบริโภคแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคเป็นต้นมา จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 รอบตั้งแต่การระบาดพบว่า ผู้ที่ดื่มในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาอย่างน้อยร้อยละ 80 รายงานว่าในช่วง 30 วันที่ผ่านมาไม่ดื่มเลยหรือดื่มน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนระบาดโควิด-19 (ยกเว้นรอบการสำรวจเดือนเมษายน 2564 ที่ราวร้อยละ 70 รายงานว่าไม่ดื่มหรือดื่มน้อยลง) 

ที่มา: ข้อมูลเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2563 ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 15 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ (ครั้งที่ 1-4) 

ข้อมูลเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2564 ใช้ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 15 จังหวัด (ครั้งที่ 1-2), ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ

รูปแบบการดื่มในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในการสำรวจรอบล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ผู้ดื่มส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 83.2 ดื่มในบ้านตนเองมากที่สุด เปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2560 ที่ร้อยละ 40.1 ดื่มที่บ้านมากที่สุด การดื่มในโอกาสงานเลี้ยงลดลงมากเช่นกัน จากร้อยละ 20 ที่ดื่มตามงานเลี้ยงมากที่สุด เป็นเพียงร้อยละ 1.1

หมายเหตุ: สำรวจในช่วงพฤษภาคม 2564

ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 15 จังหวัด (ครั้งที่ 2), ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ

สถานที่ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเมื่อปี 2560 

1. บ้านตนเอง 40.1%
2. บ้านคนอื่น 22.5%
3. งานเลี้ยง เช่น งานแต่ง งานศพ งานสโมสร 20.0%
4. ร้านอาหาร 9.5%
5. งานบุญประเพณีวัฒนธรรม 4.6%

ที่มา: การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การสูบบุหรี่เป็นอีกพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงภายหลังการเกิดโควิด-19 ในปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจ 4 พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารไม่เหมาะสม และขาดกิจกรรมทางกาย ข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ลดลงเหลือร้อยละ 17.4 จากร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ซึ่งโควิด-19 อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลง ข้อมูลจากสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 พบว่ามีผู้โทรมาขอคำปรึกษาจำนวนมากขึ้น โดยมีการให้เหตุผลที่ต้องการเลิกเพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ การงดการสังสรรค์ และการเรียนออนไลน์ในกลุ่มเยาวชน อาจช่วยลดอิทธิพลการสูบบุหรี่จากเพื่อน ทำให้จำนวนนักสูบหน้าใหม่อาจลดลงตามไปด้วย

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333