แม้ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลโรงงาน สารอันตรายและสารเคมีต่างๆ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็ตาม ปัญหาพื้นฐานที่พบคือ ไม่มีการบังคับใช้และการกำกับดูแลให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลำดับรองว่าด้วยวิธีการและรายละเอียดของการรับผิดชอบของผู้ประกอบการหรือผู้ก่อมลพิษ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงรายละเอียดว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างไรบ้าง ดังนั้นในกรณีที่เกิดความเสียหายจากอุบัติภัยเคมีหรือความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดจากปัญหามลพิษหรือสารเคมีต่างๆ ประชาชนยังต้องช่วยตัวเองในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้รับการช่วยเหลือและการเยียวยาที่เหมาะสม ขณะที่พื้นที่ที่เกิดเหตุและมีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีมาตรการบำบัดและฟื้นฟูให้ปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม
เมื่อพิจารณาจากกรณีของ บจก.หมิงตี้ฯ พบว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและมีปัญหาในการบังคับใช้ ตัวอย่างเช่น
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งโรงงาน ตัวอย่างเช่น
1.1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ในข้อ 4 ของหมวด 1 ว่าด้วยเรื่อง ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคารและลักษณะ ภายในของโรงงาน กำหนดว่า “โรงงานจำพวกที่ 3 ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาดและประเภทหรือชนิดของโรงงาน โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายเหตุรำคาญหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย”
ปัญหาที่พบคือ พื้นที่โดยรอบ บจก.หมิงตี้ฯ มีชุมชนและหมู่บ้านจัดสรร เกิดขึ้นมากมาย ขณะที่ บจก.หมิงตี้ฯ ยังคงดำเนินและขยายกิจการโรงงาน ประกอบกับหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่ได้มีการบังคับใช้ให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย
1.2 ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง “กำหนดให้ท้องที่เขตจังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ”
ปัญหาที่พบคือ ในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษควรต้องมีการควบคุมจำนวนสถานประกอบการหรือโรงงานโดยเฉพาะการจัดทำแผนการลดและขจัดมลพิษ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการควบคุมการขยายตัวของสถานประกอบการหรือโรงงาน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกลับอนุมัติให้ บจก.หมิงตี้ฯ ขยายกำลังผลิตจำนวนมากในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและยังไม่มีการกำหนดให้บริษัทแห่งนี้ต้องจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษเพิ่มเติมตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย
1.3 พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 วรรค 3 ระบุว่า การสร้าง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือย้ายออก ไม่ใช่ความผิดของคนที่อยู่มาก่อน ดังนั้นจะต้องกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรม
ปัญหาที่พบคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีการพัฒนากลไกสำหรับการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะต้องไม่ขัดกับนโยบายของผังเมืองรวมในสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม หรือประโยชน์สาธารณะ พื้นที่ตั้งของ บจก.หมิงตี้ฯ ตามสีของผังเมืองคือเป็นพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) แต่ตามกฎหมายผังเมืองแล้ว โรงงานลักษณะเดียวกับ บจก.หมิงตี้ฯ จะต้องอยู่ในพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า)1 ในกรณีนี้จึงไม่มีการนำกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดขึ้น
2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบและการชดเชยเยียวยา ตัวอย่างเช่น
2.1 พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 39 วรรค 1 “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานใดจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 โดยไม่มีเหตุอันควรหรือในกรณีที่ปรากฏว่าการประกอบกิจการของโรงงานใดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และปรับปรุงแก้ไขโรงงานนั้นเสียใหม่หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด”
ปัญหาที่พบคือ ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งปิดโรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ ภายหลังการเกิดอุบัติภัยแล้ว แต่ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินการกับ บจก. หมิงตี้ฯ ว่าจะอนุญาตให้กลับมาดำเนินกิจการได้อีกในพื้นที่เดิมหรือไม่ ภายใต้ความไม่เหมาะสมตามกฎหมายผังเมืองและการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ หรือการสั่งย้ายให้เข้าไปตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในส่วนของการเยียวยาประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ บจก.หมิงตี้ฯ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. โรงงาน ตามมาตรา 39 วรรค 1 ให้มีการตั้งจุดรับข้อร้องทุกข์ของประชาชน2 แต่ยังไม่พบการรายงานผลการเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนว่าได้มีการดำเนินการให้เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างไรบ้าง
2.2 พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในหมวด 3 เรื่อง “หน้าที่และความรับผิดทางแพ่ง”
2.3 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ในหมวด 6 เรื่องความรับผิดทางแพ่ง มาตรา 96 กำหนดว่า “แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม”
ปัญหาที่พบในการบังคับใช้กฎหมายในข้อนี้คือ ภาระการพิสูจน์ตกไปอยู่ที่ผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้เสียหายต้องแบกรับภาระการพิสูจน์ความเสียหายจากสารเคมี ซึ่งกระทำได้ยากสำหรับประชาชนทั่วไป
3. ตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ
3.1 พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อาศัยอำนาจตามมาตรา 58 วรรค 2 ในหมวด 7 ที่ว่าด้วยเรื่อง “เขตเพลิงไหม้”
ปัญหาที่พบคือ จากการที่คณะกรรมการควบคุมอาคาร มีมติให้อบต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกาศให้พื้นที่โรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ ที่เกิดเพลิงไหม้และบริเวณที่ติดต่อกันภายในระยะ 30 เมตร จะมีการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ โดยท้องถิ่นจะต้องปรับปรุงให้เสร็จใน 2 ปี แต่ถ้าครบ 2 ปีแล้วยังไม่ดำเนินการ ทางเจ้าของที่ดินจึงจะนำที่ดินไปดำเนินการใดๆ ต่อได้4 ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อเป็นกลไกแก้ปัญหาชั่วคราว ระหว่างที่โรงงานยังไม่มีความชัดเจนจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่หรือไม่ และเมื่อครบ 2 ปี เจ้าของที่ดินอาจจะนำโรงงานของบริษัทอื่นมาตั้งแทน บจก.หมิงตี้ฯ ก็ได้
จากกรณีการระเบิดของโรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ ทำให้เห็นถึงความหละหลวมและความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในหลายด้านจนทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงและกว้างขวางต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และสาธารณสมบัติ จึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอดังนี้
อ้างอิง