โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อกดาวน์ และการทำงานที่บ้าน
องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO 2020) ได้อธิบายถึง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 คือ โรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2019 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ รับมือได้ลำบากเนื่องจากไม่เป็นที่รู้จักมากก่อน พบว่ามีการติดเชื้อได้ง่าย และสามารถระบาดใหญ่เป็นวงกว้างส่งผลกระทบแก่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้โดยหลักแล้ว แพร่จากคนสู่คนผ่านทางฝอยละอองจากจมูกหรือปากซึ่งขับออกมาเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เมื่อเราได้รับเชื้อจากการหายใจเอาฝอยละอองเข้าไปจากผู้ป่วย หรือจากการเอามือไปจับพื้นผิวที่มีฝอยละอองเหล่านั้น แล้วมาจับสัมผัสตามใบหน้า พบว่าระยะเวลานับจากการติดเชื้อและการแสดงอาการ มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 1-14 วัน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน เกิน 97% ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการภายใน 14 วัน [1]
ก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อ เราสามารถป้องกันตนเอง ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยของตนเองโดยการล้างมือเมื่อมีการสัมผัสในพื้นที่เสี่ยง การเว้นระยะห่างทางกายภาพกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อที่ติดต่อทางละอองฝอย หรือการสัมผัส โดยเฉพาะ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเราสามารถทำได้หลายวิธีตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อ [2] เช่น การยืนหรือนั่งห่างกัน 1.5-2 เมตร หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันในที่สาธารณะ เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง การใช้ลิฟต์ นั่งแยกรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ปรับกิจกรรมในการใช้ชีวิตโดยใช้การใช้สื่อสาระสนเทศเข้ามาช่วย เช่นระบบออนไลน์ที่ประยุกต์ใช้ในการเรียน การประชุม การซื้ออาหารหรือของใช้เพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน
นับตั้งแต่ปลายปี 2562 กับเหตุการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มขึ้นในทุกๆประเทศ รัฐบาลผู้ดูแลต่างหาทางรับมือกับการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ รัฐบาลในแต่ละประเทศต่างก็ออกนโยบายหาทางป้องกัน ทั้งทางด้านการแพทย์ โดยการส่งเสริมการป้องกัน การให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดการวัคซีน ทางด้านเศรฐกิจ โดยการกระตุ้นระบบการเงินและอุตสาหกรรมที่หยุดชะงักลงจากประชากรที่ติดเชื้อและตกงาน รวมถึงนโยบายเครื่องมือในการควบคุมโรคติดต่อที่หลายประเทศได้ใช้ คือ มาตรการการล็อกดาวน์ในบริบทที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
“คอลลินส์” ผู้จัดทำพจนานุกรม Collins Dictionary ระบุความหมายของ “ล็อกดาวน์ (lockdown)” ว่า เป็นคำนาม หมายถึง มาตรการบังคับ หรือจำกัด การเดินทาง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการจำกัดเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ในแต่ละกรณีที่แต่ละประเทศนำมาใช้ ต่างก็มีมาตรการรายละเอียดที่อาจจะมีข้อแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ [3]
ในประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมออก "ข้อกำหนด" ชุดแรกไว้ 16 ข้อ เพื่อระบุถึงสิ่งที่คนไทย [4] "ห้ามทำ-ให้ทำ-ควรทำ" หวังควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ห้ามออกไปรวมกลุ่มกัน งดจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะข้างนอก ให้ทุกคนเว้นระยะห่าง ร้านอาหารร้านบริการต่างๆ ให้ปิดบริการทุกอย่าง แต่การนำนโยบายนี้มาใช้ กลับพบว่าอัตราการพบผู้ป่วยรายใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในไทยกลับไม่ลดลง กลับพบว่ามีผลกระทบที่เกิดมีผลต่อการดำเนินชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชนในทุกระดับของสังคมไทย
ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 23 ส.ค. 64
มาตรการที่ได้ผลดีในการดูแลตัวเองช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 คือการดูแลตนเองและปรับตนเองเข้าสู่ ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) เป็นแนวทางที่หลายๆ คนจะต้องปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรม ในช่วงของการแพร่ระบาด ซึ่งเราทุกคนต้องอยู่กับสถานการณ์ นี้ต่อไปอีกนาน ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปพร้อมกันทั่วโลก จากที่เราเคยออกจากบ้าน เพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียน ทำกิจกรรม การรักษาหรือ การให้คำปรึกษาต่างๆ เราต้องหันมาทำทุกอย่างที่บ้าน ที่เรียกว่า “work from home”
work from home (WFH) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ย้อนกลับไปสู่ยุคกลางในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้านไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานฝีมือหรือการรับจ้างทำงานทั่วไป ซึ่งบ้านและที่ทำงานเป็นที่เดียวกันจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้การทำงานเปลี่ยนไปเป็นการทำงานในโรงงานแทนและพัฒนาเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ระบบออนไลน์มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน
work from home คืออะไร ถ้าเราจะแปลความหมายแบบตรงๆ ก็คือ “การทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัย” โดยการเปลี่ยนสถานที่จากการทำงานในสำนักของหน่วยงานมาทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัยของตนเอง ซึ่งการทำงานที่บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากเป็นการจำกัดการติดต่อและการสัมผัสระหว่างคน ซึ่งช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
work from home ในต่างประเทศ
การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ได้เปลี่ยนแปลงทุกด้านของงานและชีวิตของเรา เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการกักกันระดับชาติและระดับท้องถิ่น บริษัท องค์กร และสถาบันต่างๆ สนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อความปลอดภัย work from home มีการพัฒนาและสอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม พนักงานลูกจ้างสามารถ WFH เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทาง ให้ความยืดหยุ่นในการจัดตารางเวลา และบรรลุความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หลังการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 พนักงานจำนวนมากได้รับคำแนะนำให้ WFH ในการทำงานเต็มเวลา และ WFH กลายเป็นเรื่องปกติในหลายบริษัท [5] ในปี 1990 รัฐบาลสหรัฐมีการทดลองการทำงานแบบ work from home เป็นโครงการใหญ่ชื่อว่า Federal Flexible Workplace Pilot Project เพื่อต้องการศึกษาข้อดีและข้อด้อยของการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากนอกออฟฟิศ โดยเรียกวิธีการนี้ว่า “flexiplaces” โดยมีพนักงาน 550 คนเข้าร่วมโครงการและพบว่า flexiplaces มีข้อดี ดังนี้
เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ลดความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่ทำงาน
ลดค่าใช้จ่ายขององค์กร
หลังจากนั้นสภาคองเกรสได้อนุมัติงบประมาณให้โครงการ flexiplace จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่จะทำให้พนักงานของรัฐสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ต่อมาในปี 1994 ในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ได้ออกนโยบายให้เพิ่ม flexible family-friendly work arrangements โดยใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยมีบทบาทให้มากขึ้น และปี 1995 ได้กลายเป็นโครงการที่ทำอย่างถาวร [6]
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000: สำนักงานสำมะโนประชากรของประเทศสหรัฐได้ทำการสำรวจ ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 2000-2010 พบว่า มีการทำงานที่บ้านกำลังเพิ่มขึ้น โดยมีผลการศึกษาดังนี้ [7]
มีพนักงานทำงานระยะทางไกลเพิ่มขึ้น:
- ระหว่างปี 2000 ถึง 2010 มีคนที่ทำงานที่บ้านอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 35 ของช่วงเวลา 10 ปี)
- ในช่วงเวลา 10 ปี มีประชากรของผู้ปฏิบัติงานระยะทางไกล / ทำงานที่บ้านเป็นครั้งคราวเพิ่มขึ้นจากปี 2000 จำนวน 9.2 ล้านคน ไปเป็นจำนวน 13.4 ล้านคนในปี 2010
มีพนักงานประจำที่ทำงานทางไกลมากกว่าคนทำงานที่ประกอบอาชีพอิสระ:
- ระหว่างปี ค.ศ. 1980-2000 พนักงานกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำงานจากที่บ้าน ในปี 1980 มีพนักงานที่ทำงานที่บ้าน 39.4% โดยรวมเป็นพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) และภายในปี 2010 พบว่ามีจำนวนเพนักงานบริษัททำงานจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้นถึง 59% พบว่ามีผู้ที่ทำงานจากที่บ้านอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน หรือ และจำนวนผู้ที่ทำงานจากที่บ้านเพิ่มจาก 9.2 ล้านคน เป็น 13.4 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 10 ปี
พนักงานที่ทำงานที่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี:
- พบว่าพนักงานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีถึง 50% ในขณะที่คนที่ยังทำงานในที่ทำงานมีผู้จบปริญญาตรีเพียง 29.7%
ผู้ปฏิบัติงานระยะไกลได้รับค่าตอบแทนสูงมากขึ้น:
- พนักงานที่ทำงานได้ทั้งที่บ้านและในที่ทำงาน มีรายได้รวมเฉลี่ย 52,800 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนพนักงานที่ทำงานได้เฉพาะในสถานที่/บริษัท มีรายได้รวมเฉลี่ย 30,000 ดอลลาร์ต่อปี และพนักงานที่ทำงานเฉพาะที่บ้าน มีรายได้รวมเฉลี่ย 25,500 ดอลลาร์ต่อปี
ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน ขอเชิญชวนท่านติดตามต่อใน “ประเด็น WFH ในประเทศไทย” ได้ในสัปดาห์หน้า
อ้างอิง
[1] WHO thailand. 2020. โรคโควิด 19 คืออะไร. https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/update-28-covid-19-what-we-know---june2020---thai.pdf?sfvrsn=724d2ce3_0
[2] รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา. 2020. 7 วิธีเว้นระยะห่างทางสังคม SOCIAL DISTANCING ต้านภัย COVID-19. สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. https://www.rama.mahidol.ac.th/th/infographics/172
[3] ประชาไทย. 2021. ล็อกดาวน์ คืออะไร ความหมายของ Lockdown. 9 ก.ค. 2021. https://mthai.com/campus/145668.html.
[4] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. 2020. ไวรัสโคโรนา : สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์. ข่าวบีบีซีไทย. 2 เมษายน 2020. https://www.bbc.com/thai/thaila nd-52130662
[5] Xiao Y, Becerik-Gerber B, Lucas G, Roll SC. Impacts of Working From Home During COVID-19 Pandemic on Physical and Mental Well-Being of Office Workstation Users. J Occup Environ Med. 2021;63(3):181-190. doi:10.1097/JOM.0000000000002097
[6] ย้อนรอยเส้นทางการ Work From Home https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/salary-man/wfh-history.html
[7] Brie Weiler Reynolds and Adrianne Bibby. The Complete History of Working from Home. สืบค้นเมื่อวันที 15 ตุลาคม 2564. https://www.flexjobs.com/blog/post/complete-history-of-working-from-home/