รายงานสุขภาพคนไทย 2563 ซึ่งกำลังจะออกในช่วงเดือนเมษายนนี้จะนำเสนอ 12 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพในหัวเรื่อง “วัยรุ่นและเยาวชนไทย” เพื่อสะท้อนข้อมูลสถานการณ์สุขภาพ และปัจจัยทางสังคมในมิติต่างๆ ที่กำหนดสุขภาพของวัยรุ่นและเยาวชนไทย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคม โดยหนึ่งในหมวดตัวชี้วัดที่มีเป็นในเรื่อง "การศึกษาและการทำงาน" (ของวัยรุ่นและเยาวชน) ซึ่งมีข้อมูลสถิติและผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องที่เป็นประเด็นน่าสนใจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะ ในประเด็นคุณภาพของการจัดการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังมีแนวโน้มสูงในสังคมไทย
จากการจัดทำดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index ในรายงานที่มีชื่อว่า “Insights from Disaggregating the Human Capital Index”) ในปี 2561 โดยธนาคารโลก ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประชากรของประเทศไทยมีจำนวนปีที่คาดว่าจะได้รับการศึกษา (expected years of schooling) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.4 ปี แต่หากนำคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนมาร่วมพิจารณาเป็นปัจจัยปรับค่า (หรือ adjusting factor โดยใช้ค่าคะแนน Harmonized Test Score ที่คำนวนจากคะแนนสอบวัดผลการเรียนรู้โดยเฉลี่ยของนักเรียนไทยจากชุดการสอบระดับนานาชาติต่างๆ เช่น TIMMS/PIRLS PISA เป็นต้น เป็นตัวชี้วัด) กลับพบว่า จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ย (หรือ learning-adjusted years of schooling) ของคนไทยมีระยะเวลาเทียบเท่าเพียง 8.6 ปี (หายไปประมาณ 3.8 ปี) ซึ่งน้อยกว่าทั้งของมาเลเซียและเวียดนามที่มีจำนวนปีเฉลี่ยที่ประชากรได้รับการศึกษาสั้นกว่าไทย แต่เมื่อปรับด้วยคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้ว จำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษากลับพบว่ายาวนานกว่าของคนไทย (โดยเทียบเท่า 9.1 ปีและ 12.2 ปี ตามลำดับ)
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ประชากรวัยเรียนของเรา (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและเยาวชน) จะมีโอกาสและสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ค่อนข้างดี แต่คุณภาพของการศึกษาที่ได้รับซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรทุนมนุษย์ในระยะยาวของประเทศ น่าจะยังเป็นปัญหาและประเด็นที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป รวมถึง ปัญหาความแตกต่างเหลือมล้ำของคุณภาพการศึกษาในแต่ละกลุ่มโรงเรียน ซึ่งจะมีข้อมูลนำเสนออยู่ในตัวชี้วัดหมวดนี้ด้วยเช่นกัน...สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ในเล่มรายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2563 อีกไม่นานเกินรอ...