ประเทศไทยต้องประสบปัญหามลพิษ โดยเฉพาะหมอกควันและฝุ่น P.M. 2.5 เป็นประจำในฤดูแล้ง ทั้งปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือและภาคอีสานอันเกิดจากการเผาพืชไร่และเผาป่า ส่วนฝุ่นควันในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง มีสาเหตุร่วมกันจากการเผาพืชเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะไร่อ้อยและข้าวโพดในพื้นจังหวัดภาคกลาง การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลในเขตเมือง และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตปริมณฑล ซึ่งสร้างผลกระทบทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์และสัตว์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่าปริมาณของฝุ่น (PM 2.5 และ PM 10) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิต เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กอาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ รวมถึงอาการทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน นอกจากนี้อนุภาคขนาดเล็กของ PM 2.5 ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งยึดเกาะของมลพิษอื่นๆ เช่น โลหะหนัก สารพิษจากการจราจร หรือแหล่งก่อมลพิษอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาวอีกด้วย นอกจากปัญหาสุขภาพกายแล้ว ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณมลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตของผู้ใหญ่ และเด็กที่เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทยได้ออกมาตรการเบื้องต้นบางประการ เช่น การตรวจจับรถควันดำ การพ่นละอองน้ำในอากาศ หรือการรณรงค์ให้สวมหน้ากากลดความเสี่ยงจาก PM 2.5 แต่แนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มากกว่าการไปจัดการที่แหล่งกำเนิดของปัญหา ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายข้อบังคับต่างๆ มากมาย การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่นอกจากภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาแล้ว ประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเช่นกัน อาทิ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแก้ปัญหาหมอกควันทุกระดับ การสร้างและส่งต่อองค์ความรู้และข้อมูลในการจัดการปัญหาไฟป่า และการทำเกษตรแบบยั่งยืน เป็นต้น