แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สำหรับโรงเรียนรัฐบาล โดยจ่ายเป็นค่าแบบเรียน เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ผู้ปกครองยังต้องมีรายจ่ายอื่นๆเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น ค่าบำรุงการศึกษาที่โรงเรียนเรียกเก็บ รวมไปถึงค่าเรียนพิเศษต่างๆ เนื่องจากความไม่มั่นใจคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน และการที่โรงเรียนกระตุ้นให้เด็กเรียนเพื่อหารายได้ หรือมีเป้าหมายเพื่อสอบเข้า การวัดมาตรฐานด้วย คะแนนสอบ ในทุกระดับชั้น ทำให้พ่อแม่ยอมจ่าย เพราะกังวลว่าลูกหลานจะสอบได้คะแนนน้อย สอบเข้าโรงเรียนหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการสอบวัดผลในโรงเรียนมักจะยากกว่าเนื้อหาที่เรียนมาเสมอ
แม้จะมีผลการศึกษาที่พบว่า ค่าใช้จ่ายในหลักสูตรพิเศษต่างๆในโรงเรียน และการเรียนพิเศษนอกโรงเรียนมีผลกระทบต่อระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน โดยในเชิงปริมาณผลลัพธ์ของการเรียนพิเศษ ช่วยเพิ่มระดับคะแนนได้ แต่มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่า เด็กไม่ได้เรียนรู้วิธีคิด หรือทักษะชีวิตด้านอื่นๆ เพราะมุ่งที่จะแข่งขันเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กยากจนไม่มีโอกาสที่จะเรียนพิเศษ ขณะที่โรงเรียนไม่ได้พัฒนาคุณภาพครูและการเรียนการสอน เพราะคิดว่าเด็กเรียนพิเศษเองได้ หากเป็นเช่นนี้ คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอยู่ที่ไหน และแหล่งเรียนรู้ใดจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทางการศึกษาโดยที่ไม่เป็นการผลักภาระให้ประชาชน
โครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ชวนผู้อ่านติดตาม เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2563 “สองทศวรรษการปฏิรูปการศึกษาไทย: ความล้มเหลวและความสำเร็จ” พบกับเรื่องราวการศึกษาไทยที่จะทำให้ท่านเห็นจุดอ่อนและเรื่องดีๆในระบบการศึกษาไทยผ่านทางเว็บไซต์ เร็วๆนี้
(1) เมื่อคุณภาพการศึกษาใช้ “คะแนนชี้วัด” ผู้ปกครองทุ่มปีละกว่าหมื่นล้านให้เด็กกวดวิชาเพื่อ “ติ๊กถูก” (เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2563 ). เข้าถึงจาก https://thaipublica.org/2013/09/quality-of-thai-education/
(2) เปิดผลสำรวจ“ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” (เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2563 ). เข้าถึงจาก https://www.kroobannok.com/78719