บทความสั้น
บุหรี่ไฟฟ้า: มหันตภัยยุค 4.0
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มีนาคม 2563

บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งประดิษฐ์โดยเภสัชกรจีนเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยหวังสร้าง “ทางเลือก” ให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบธรรมดาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สินค้า” ที่ทำรายได้มหาศาล เพราะตรงกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่อยากเสพความแปลก แต่ที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ และนำมาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ กลับเป็นตรงกันข้าม คือแม้ตัวผู้ประดิษฐ์เองก็เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้และยังติดบุหรี่ทั้งสองอย่างอีกด้วย ปัจจุบันประเทศในสหภาพยุโรป องค์การอนามัยโลกและสมาคมปอดอเมริกันได้สรุปเป็นแนวทางเดียวกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้น้อยกว่าวิธีอื่น และไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ 

วารสารสาธารณสุขอเมริกัน ฉบับออนไลน์ เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 รายงานว่า ระหว่าง พ.ศ. 2560-61 นักเรียนมัธยมอเมริกันใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 74 วัยรุ่นที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ชนิดอื่น ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่เคยใช้เกือบ 4 เท่า ผลการศึกษาในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชียก็พบว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เมื่อลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มเริ่มสูบบุหรี่ในภายหลังได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ จึงแจ้งต่อรัฐสภาว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือด ลดความสามารถของปอดในการต่อสู้กับการติดเชื้อ อีกทั้งน้ำยาที่ปรุงแต่งรสเป็นพิษ จึงห้ามบุหรี่ไฟฟ้าที่ปรุงแต่งรสในหลายมลรัฐ ส่วนอินเดียก็ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้เกิดอันตราย ส่วนที่เกาหลีใต้ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการได้แนะนำให้งดใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนกว่าจะได้ผลการตรวจสอบความเกี่ยวข้องของบุหรี่ไฟฟ้ากับโรคปอด ที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียก็ได้ประกาศจะห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ

สำหรับประเทศไทย มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน พ.ศ. 2550 ต่อมากรมควบคุมโรคและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้พิจารณาการห้ามนำเข้าและจำหน่าย และเมื่อ พ.ศ. 2553 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2557 ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำสั่งห้ามขายหรือบริการบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2558 และเมื่อ พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตาม พ่อค้าบุหรี่ไฟฟ้าพยายามวิ่งเต้นให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีบุหรี่ปรุงแต่งรสผลไม้ กานพลู ฯลฯ ที่แพร่เข้าสู่ประเทศไทย รวมถึงบารากู่แบบหม้อสูบ และบารากู่ไฟฟ้า โดยมีการใช้สื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย ทั้ง เฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรมและวอทส์แอป ทำให้มีการลักลอบสูบและซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ และการจับกุมกวาดล้างยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประเทศไทยจึงสร้างโมเดล “ประสาน 3 พลัง” ได้แก่ พลังนโยบาย/ราชการ พลังวิชาการ และพลังสังคม เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งออนไลน์/ออฟไลน์ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่ทันยุค และร่วมกันทำยุทธศาสตร์สร้างเยาวชน gen ใหม่ที่จะไม่สูบบุหรี่ตลอดชีวิต

*********************************

ท่านสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ในสถานการณ์เด่น เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า: มหันตภัยยุค 4.0 ที่คุกคามสุขภาวะคนไทย” ในรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี 2563


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333