บทความสั้น
มองเด็กไทยในยุคโควิด-19 ระลอก 3
Home / บทความสั้น

​ กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มิถุนายน 2564

เมื่อราวเดือนมีนาคม 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ บ้างออกเดินทางท่องเที่ยว บ้างทำมาหากินได้คล่องขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเด็ก ๆ ก็ได้ไปโรงเรียน และได้เล่นกับเพื่อนๆ

​แต่ทว่าการปิดเทอมใหญ่หรือปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็ก ๆ ปีนี้ กลับกลายเป็นการปิดเทอมที่ยาวนานกว่าปกติ มีการเลื่อนเปิดเทอม ครั้งละประมาณ 15 วัน ครั้งที่ 1 ก็แล้ว ครั้งที่ 2 ก็แล้ว เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนล่าสุดเลื่อนเปิดเทอมไปถึงต้นเดือนสิงหาคม 2564 ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง

ทั้งนี้ การระบาดระลอกนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นเด็กจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 จนถึง 29 มิถุนายน 2564 มีเด็ก (อายุ 0-14 ปี) ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 14,900 คน คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในประเทศไทย[1] ในจำนวนนี้พบว่าเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 อายุน้อยที่สุด มีอายุไม่ถึงหนึ่งเดือน[2]

แล้วเด็กไทยจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องการเรียน การป้องกัน รักษาตนเองจากการระบาดของโควิด-19

เรื่องการเรียนของเด็ก ขณะนี้ได้ใช้มาตรการว่า ในพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดก็สามารถให้ไปเรียนได้ตามปกติโดยยึดมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดก็ให้เรียนออนไลน์แทน (Online) แต่เมื่อให้เด็ก ๆ ได้ไปโรงเรียนได้ไม่นาน ก็พบว่ามีการระบาดในโรงเรียนทั้งครูและเด็ก รวมทั้งเด็กเล็กในวัยอนุบาลด้วย ทำให้ต้องมีการปิดเรียนอีกครั้ง จนทำให้ต้องมีการกักตัวทั้งครูและนักเรียน เด็กเล็กต้องถูกพราก/ แยกจากพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อไปรักษาตัวตามลำพังคนเดียว หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ติดเชื้อโควิด-19 ต้องแยกไปรักษาตัว ต้องปล่อยให้เด็กอยู่เพียงลำพัง ตามมาตรการการรักษาของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะต้องแอดมิตนอนที่โรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาและแยกตัวไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น[3]

​อย่างไรก็ตาม “ยูนิเซฟ แนะนำว่า การดูแลเด็กผู้ติดเชื้อโควิด -19 หรือเสี่ยงสูง ไม่ควรแยกเด็กออกจากครอบครัว หวั่นเกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ทางร่างกาย การตัดสินใจแยกเด็กที่ติดเชื้อหรือกักตัว ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก …

​... ในกรณีที่เด็กติดเชื้อ เมื่อเด็กต้องถูกแยกตัวหรือกักตัวหรือรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ควรอนุญาตให้ผู้ดูแลหรือสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยไปอยู่กับเด็กด้วย ในกรณีที่จำเป็นต้องแยกเด็กจากครอบครัว ควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด และต้องมีการจัดทำข้อมูลรายบุคคลของเด็ก ตลอดจนจัดให้มีการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำทุกวัน”[4]

​เด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 สูง เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร การเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ (Online) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของเด็ก ๆ เพราะก็ผ่านประสบการณ์เช่นนี้เมื่อปีที่แล้ว (การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563) แต่ทว่ารอบนี้ กลับได้ยินเสียงหรือมีความรู้สึกว่าผลกระทบที่มีต่อเด็กและผู้ปกครองมากกว่ารอบที่แล้ว อย่างเช่นเด็กโต ก็จะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนออนไลน์ หรืออย่างเด็กเล็กก็จะไม่มีสมาธิกับการเรียน เด็กเล็กไม่ได้มีสมาธินานมากพอที่จะเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านการใช้ตา หู จมูก ปาก รวมทั้งยังขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ต่อคนอื่นด้วย

​อย่างผู้เขียนเองที่มีลูกเล็กอายุประมาณ 6 ขวบ เรียนชั้นอนุบาล 3 ในแต่ละวัน คุณครูจะส่งคลิปสั้นๆ มาให้เรียน วันละ 1-2 คลิป ความยาวประมาณคลิปละ 10 นาที เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องง่าย เช่น เครื่องดนตรี รำ โยคะ ครอบครัว ภาษาอังกฤษ โรงเรียน นอกจากนี้ ก็มีการให้ใบงานมาให้เด็กฝึกทำ เช่น การเขียนสะกดคำ การบวกลบเลขอย่างง่าย การวาดรูประบายสี เท่าที่สังเกตการเรียนออนไลน์ของลูกมาประมาณ 1 เดือนครึ่ง พบว่า ลูกเราไม่ค่อยสนใจ หรือมีสมาธิกับคลิปการเรียนการสอน ยกเว้น การสอนที่ให้ทำกิจกรรมตาม เช่น  การสอนดนตรีและให้เอาแก้วพลาสติกมาเคาะจังหวะ การเรียนโยคะ การรำ

​ส่วนการทำใบงาน ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจกับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกว่าจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำได้ และทำสำเร็จในแต่ละเรื่อง บางเรื่องก็ยากกว่าที่ลูกเราจะทำได้ เช่นให้เขียนคำตามภาพในขณะที่ลูกของเรายังจำพยัญชนะและตัวสะกดยังไม่ได้เลย บางเรื่องเราก็ไม่รู้จะสอนลูกอย่างไร อย่างเรื่องการบวกลบเลข ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ปกครองอย่างเรา ๆ ไม่มีทักษะในการสอนเรื่องเหล่านี้เลย แล้วตอนที่พวกเรายังเป็นเด็กเราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

​นอกจากนี้ยังประสบปัญหาผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาในการเรียนออนไลน์กับลูกเล็ก เพราะเด็กในวัยนี้ไม่สามารถเรียนได้เองตามลำพังเหมือนกับเด็กโต

​คิดภาพไม่ออก ว่าเด็กเล็ก ๆ และลูกของเราที่ต้องเรียนออนไลน์ในยุคนี้จะเป็นอย่างไร เขาจะมีความรู้เหมือนเด็กคนอื่นหรือไม่ เขาจะได้เลื่อนระดับชั้นอย่างไร เขาจะเข้ากับคนอื่นและสังคมได้หรือไม่ เขาจะติดหน้าจอมากเกินไปหรือเปล่า ปัญหาเหล่านี้นับว่าเป็นผลกระทบอย่างมากต่อเด็ก ๆ ในบ้านเรายุคโควิด-19 และอนาคตของพวกเขาในวันข้างหน้า

​จะว่าไปแล้ว พวกเราพ่อแม่ผู้ปกครองคงรอความช่วยเหลือหรือการเยียวยาจากภายนอกแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ หรืออาจจะไม่ได้รับการเยียวยาเลยก็ได้ ไปพบข้อเขียนหนึ่งที่ดูเข้าทีกับพ่อแม่อย่างเรา ๆ ที่ว่า

​เรา (พ่อแม่ผู้ปกครอง) ทำอะไรได้บ้างในยุคเด็กถดถอย?

 

“การตัดสินใจเป็นของคุณพ่อคุณแม่เสมอ”

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สำหรับผู้เขียน ดูท่าแล้ว คงต้องขอใช้แนวคิดของคุณหมอประเสริฐฯ ที่เข้าทำนองที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นหลักไปก่อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะรอดไปด้วยกัน


[1] คำนวณโดยผู้เขียน จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://data.go.th/dataset/covid-19-daily
[2] โรงพยาบาลนครพิงค์พบผู้ป่วยโควิด-19 อายุน้อยสุดเพียง 22 วัน เผยเชียงใหม่มีเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ติดเชื้อถึง 99 ราย. 30 เมษายน 2564. The Standard. www.thestandard.co/nakhon-phing-hospital-finds-the-youngest-covid-19-patients/
[3] อย่าปล่อยให้อยู่ลำพัง เด็กป่วยโควิด-19 แพร่เชื้อน้อย อาการไม่รุนแรง. 8 พฤษภาคม 2564. ไทยรัฐออนไลน์. www.thairath.co.th/news/local/2085383
[4] ยูนิเซฟแนะไม่ควรแยกเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเสี่ยงสูงจากครอบครัว. 10 มิถุนายน 2564. ฐานเศรษฐกิจ. www.thansettakij.com/content/covid_19/483434


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333