บุหรี่ไฟฟ้าประดิษฐ์โดยเภสัชกรจีนเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยหวังสร้าง “ทางเลือก” ให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบธรรมดาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนเกิดความเชื่อผิดๆ ว่าปลอดภัย อันตรายน้อยกว่าและนำมาใช้เพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้
รายงานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษและอันตรายมากกว่าบุหรี่แบบธรรมดา องค์การอนามัยโลกจึงประกาศว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการเลิกบุหรี่ ความเป็นจริงคือ วิธีเลิกสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้านี้ได้ผลต่ำกว่าการใช้วิธีอื่น และยังทำให้ติดทั้งสองอย่างอีกด้วย
จะว่าไปแล้ว บุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังมีส่วนประกอบของนิโคติน โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน และสารแต่งกลิ่น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้
สำหรับในบ้านเรา ก็เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางหลังจากที่มีการประกาศห้ามการนำเข้าและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าออกมาจากทางรัฐบาล มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็หยิบยกข้อมูลบางด้านมาสนับสนุนความเห็นของตนเอง
ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครอง ถือว่ามีความความผิดทั้งผู้นำเข้า ผู้ขายและผู้ใช้ เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นความผิดซึ่งหน้าสามารถเข้าจับกุมได้
ท่านสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ในสถานการณ์เด่น เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า: มหันตภัยยุค 4.0 ที่คุกคามสุขภาวะคนไทย” ในรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี 2563