ผลการศึกษาของธนาคารโลก สรุปได้ว่า รายจ่ายด้านการศึกษาของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ และผลประเมินผู้เรียนระดับชาติ และระดับนานาชาติ ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นักเรียนไทยขาดทักษะอ่าน และวิเคราะห์ รวมถึงคุณภาพการศึกษาไทยลดลง ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแย่ลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่องว่างคุณภาพการศึกษาระหว่างคนรวย และคนจน ห่างขึ้นไปอีก ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ไม่จำเป็นต้องไปเรียนพิเศษ ช่วยทลายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขอเพียงมีเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตกับความตั้งใจใฝ่รู้ ก็สามารถเข้าถึงได้ นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เปลี่ยนโลกให้แคบลง
ตัวอย่างหนึ่งจากบทเรียนฟรีออนไลน์ที่มีการใช้ทั่วโลก เกิดขึ้นจากความบังเอิญของ “ซาล ข่าน”นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เพื่อให้ผู้รักการเรียนรู้ทั่วโลกเข้าถึงได้ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 เมื่อเขาเริ่มสอนคณิตศาสตร์ขั้นสูงให้ลูกพี่ลูกน้องในนิวออร์ลีนส์แบบทางไกล ด้วยพรสวรรค์ที่สามารถอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เขาเริ่มสอนทางโทรศัพท์และ Yahoo Doodle หลังเลิกงาน ผลลัพธ์ดูจะเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งเขาได้สอนสมาชิกในครอบครัวของเขาด้วย ในที่สุดเขาตัดสินใจที่จะเริ่มการบันทึกวิดีโอและโพสต์ลงบน YouTube ความยาว 7-14 นาที ในปี 2549 เพื่อให้ทุกคนสามารถดูได้ด้วยตนเอง ข่าน ปฏิวัติวงการศึกษาเพราะนักเรียนได้รับความรู้ที่เขาถ่ายทอดไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกขอเพียงมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ปี 2009 (พ.ศ. 2552) เขาตัดสินใจลาออกจากงาน ก่อตั้ง Khan Academy องค์กรไม่แสวงกำไรขึ้นมา และทุ่มเทให้กับการทำคลิปโดยไม่มีรายได้เข้ามา เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนทั้งโลกโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ จนกระทั่งมีเงินบริจาคจากองค์กรระดับโลกต่างๆ ปัจจุบัน Khan Academy มีคลิปสอนวิชาต่าง ๆ กว่า 5,000 คอร์ส รวม 20,000 กว่าคลิป ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรม การเงิน ครอบคลุมระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา วิดีโอที่ทำออกมามีมากกว่า 65 ภาษา (ภาษาไทย สนับสนุนโดย มูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ และมูลนิธิไทยคม) มีแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำ ครูก็ได้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอน รวมทั้งผู้ปกครองสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ด้วย ในแต่ละวัน บทเรียนของ Khan Academy มากกว่า 1,000 ล้านบทเรียนจะผ่านสายตาผู้ชม และแต่ละเดือนมีครูราว 2 ล้านคน นักเรียนประมาณ 40 ล้านคนเข้ามาใช้งานในห้องเรียนดิจิทัลแห่งนี้ สะท้อนว่าไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงบทเรียนได้อย่างเท่าเทียม และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง
ที่มา: https://www.khanacademy.org/
การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% เด็กอีกกว่า 2 ล้านคน กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา หากการศึกษาสามารถสร้างทางเลือกการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ผ่านเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยครอบครัวและโรงเรียนทำหน้าที่ปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้ ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในเชิงเศรษฐกิจและสังคมลงได้อย่างมาก
ติดตามอ่าน เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2563 “สองทศวรรษการปฏิรูปการศึกษาไทย: ความล้มเหลวและความสำเร็จ” ที่จะชวนท่านตั้งคำถามและวิเคราะห์การปฏิรูปการศึกษาไทยไปพร้อมๆ กัน