ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง อันเนื่องมาจากปัญหาซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าส่งผลต่อการคิด ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสภาวะอารมณ์ที่หดหู่และปัญหาสุขภาพ และมีโอกาสเกิดได้บ่อยในเด็กและเยาวชนที่อายุระหว่าง 10-18 ปี ซึ่งเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า และพ่อแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าก็จะมีความเสี่ยงที่มีลูกที่มีภาวะซึมเศร้าเช่นกัน ภาวะซึมเศร้านั้นเป็นสาเหตุสำคัญของการนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
แม้ว่าการฆ่าตัวตายของเยาวชนจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่อุบัติการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองในระดับต่ำ มีความเปราะบางทางอารมณ์ที่สูง รวมถึงมีความยากลำบากในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งกระตุ้น เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ก็อาจนำไปสู่การหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย
จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกในปี 2016 เด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถิติการฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากภูมิภาคยุโรป สำหรับไทย กรมสุขภาพจิตรายงานว่า ในปี 2561 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 5.33 คนต่อประชากรแสนคน จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า มีกลุ่มเด็กและเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมาก โดยปัญหาที่พบมากที่สุดได้แก่ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว
วิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน สถานภาพของครอบครัว การบริโภคสื่อรวมถึงสภาพสังคมที่เน้นการเปรียบเทียบแข่งขัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้นสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศจึงควรตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ เพราะเด็กและเยาวชนที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มสูงที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้าและลูกของพวกเขาก็มีโอกาสสูงที่เกิดภาวะซึมเศร้า ปัญหาภาวะซึมเศร้าจึงเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ไม่ควรละเลย สังคมจึงควรมีส่วนในรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่การสร้างภูมิคุ้มกันภายในตัวเด็กและเยาวชน ให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็งและสามารถจัดการกับปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเผชิญได้ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้การยอมรับ เพื่อเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง มีสุขภาพจิตที่ดีและมีต้นทุนในการดำเนินชีวิตต่อไป
สังคมไทยและภาคีเครือข่ายต่างๆ ควรร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันและลดการเกิดภาวะซึมเศร้าด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ ปลูกฝังกรอบการคิดแบบเติบโต ที่มองว่าความล้มเหลวทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง สะสมต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก (เพิ่มปัจจัยเสริม ลดปัจจัยเสี่ยง) ฝึกให้เจอทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ ทำให้เด็กไม่ผิดหวังเมื่อประสบปัญหาในอนาคต เข้าใจเด็กในสิ่งที่เขาเป็น (ทุนสังคม ทุนจิตใจ ทุนความสามารถ) เนื่องจากเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย มีสภาวะทางสุขภาพทั้งสุขภาพใจและกายที่แตกต่างกัน เราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน โดยทุกคนในสังคม ได้แก่ พ่อแม่ คนในครอบครัว ครู เพื่อน และสังคมในภาพรวมควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความฉบับเต็มได้ในสถานการณ์เด่นเรื่อง “ภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชน: จะช่วยอย่างไร?” ในรายงานสุขภาพคนไทยฉบับปี 2563 ครับ