แนวโน้มการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยที่ลงไปถึงศูนย์รายไม่ได้เป็นที่รับประกันว่าประเทศไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ดูเอาอย่างกรุงปักกิ่งที่จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ติดต่อกันนานยาวถึง 50 วัน ก็กลับมาติดเชื้ออีก 79 รายภายใน 4 วัน ซึ่ง 7 รายในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ (ข้อมูล ณ 14 มิ.ย. 2563) แหล่งแพร่เชื้อคือเขียงปลาแซลมอนที่ตลาดสดซินฟาตี้ (北京新发地农产品批发市: Beijing Xinfadi Agricultural Produce Wholesale Market) กลางกรุงปักกิ่ง และนี่ยังไม่นับการติดเชื้อระลอกที่สองที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่นๆ อีกทั้งการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยที่ล้วนแต่เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ยิ่งทำให้คนในสังคมไทยมีความกังวลต่อการเปิดพรมแดน และเชื่อว่าประเทศอื่นๆ ก็อาจรู้สึกไม่แตกต่างกันจนกลายเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองระดับโลก ซึ่งหมายถึงแต่ละประเทศต่างปิดกั้นพรมแดนและไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทางเข้ามา จะทอดยาวไปอีกพอสมควร
ความเข้มข้นของการพบปะคบหาไปมาหาสู่กันข้ามพรมแดนของโลกยุคโลกาภิวัตน์เติบโตได้ด้วยกลไกการพัฒนาของเทคโนโลยี 2 แขนง คือการคมนาคม (Transportation technology) ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ และการสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication technology) ไม่ว่าจะเป็นแบบดิจิทัล หรือที่ไม่เป็นแบบดิจิทัล ระดับความเข้มข้นที่ว่านี้สูงมากถึงขั้นที่ใครต่อใครก็บอกว่าพรมแดนระหว่างประเทศที่แม้จะมีปรากฏอยู่จริงบนแผนที่แต่ก็ทำท่าจะเลือนลางในความเป็นจริงไปทุกทีเพราะพรมแดนต่างๆ เปิดให้ข้ามไปมาระหว่างกันได้โดยเสรีขึ้น ส่วนบนพื้นที่ดิจิทัลนั้นแทบจะไม่มีการศุลกากร หรือโครงสร้างการติดตามควบคุมใดๆ เลยด้วยซ้ำไป และด้วยความเข้มข้นระดับนี้ทำให้โลกทั้งแคบลงเพราะการเดินทางที่รวดเร็วขึ้น และหมุนเร็วขึ้นเพราะการสื่อสารโทรคมนาคมที่ฉับไวขึ้นในทุกขณะตามกฏของมัวร์ (Moore’s Law)
บูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economic integration) ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ในโลกไม่เพียงแต่เชื่อมโยงแต่ยังพึ่งพากันตามแนวคิดการค้าเสรี (Trade liberalization) เจริญรุ่งเรืองด้วยโครงข่ายของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่สนับสนุนด้วยระบบลอจิสติกส์ (Logistics) ล้ำสมัยซึ่งเมื่อถอดส่วนประกอบทั้งหลายออกมาแล้วล้วนแต่ประกอบด้วยการคมนาคม และการโทรคมนาคมทั้งสิ้น ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ของตลาด (Globalization of market) ซึ่งหมายถึงการที่ตลาดอันได้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายกำลังเชื่อมรวมกันเป็นหนึ่ง และโลกาภิวัตน์ของการผลิต (Globalization of production) ซึ่งหมายถึงการที่ระบบการผลิตในโลกเชื่อมโยงส่งต่อกันจนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากๆ กลายเป็นสินค้าพหุสัญชาติแทบจะทั้งหมด และยังเป็นหัวใจของการทำให้ต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยของโลกลดลง อันเนื่องมาจากการกระจายกิจกรรมการผลิตแต่ละสินค้า แต่ละชิ้นส่วนไปตามความถนัด (Specialization of production) ตามแนวคิดการแบ่งหน้าที่การผลิต (Division of labour) ที่ย้อนกลับไปถึงยุค อดัม สมิธ และฟอร์ดนิยม (Fordism)
โลกาภิวัตน์ทั้งสองมิตินี้เคยถูกท้าทายหลายครั้งหนึ่งจากวิกฤตการณ์น้ำมันและพลังงานโลก ครั้งล่าสุดคือช่วงต้น ค.ศ.2000s ราคาน้ำมันปั่นปวนจนกระทบต่อต้นทุนการคมนาคมและการขนส่งทางไกล นักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่าระบบโครงข่ายลอจิสติกส์โลกจะคลายตัวลง และจะทำให้ทั้งการตลาดและการผลิตจะคึกคักภายในภูมิภาคมากขึ้น และทำเกิดเป็นภูมิภาคภิวัตน์ (Regionalization) แต่แล้วเหตุการณ์ก็ไม่รุนแรงและสุดโต่งอย่างที่คิด
การท้าทายของโควิด-19 ครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อครั้งวิกฤตการณ์น้ำมันโลกอย่างมาก ในครั้งนี้การสื่อสารโทรคมนาคมไม่ได้รับผลกระทบแม้แต่น้อย ซ้ำยังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคมในรูปแบบดิจิทัล ตรงกันข้ามการคมนาคมหยุดชะงักอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบโลจิสติกค์โลกที่จะทำให้การเจรจาการค้ามีความมั่นใจและราบรื่น แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะพัฒนาการพบปะเจรจาแบบดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ก็ไม่อาจทดแทนการพบปะเจรจาแบบพบตัวพบหน้าได้ทั้งหมด
แม้แต่ละประเทศต่างทยอยผ่อนคลายและยกเลิกการล๊อกดาวน์แล้ว และคาดว่าจะผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อพยายามกลับสู่ภาวะปกติให้มากที่สุด แต่การเดินทางระหว่างประเทศของผู้โดยสารจะยังคงมีความยากลำบากอย่างมาก บริษัท Certify ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานค่าใช้จ่ายของบริษัทใหญ่ๆทั่วโลกและเป็นผู้สร้างซอฟต์แวร์จัดการเดินทางรายงานว่าในแต่ละปีจะมีการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business trip) ประมาณ 445 ล้านครั้งในแต่ละปี และมีมูลค่ากว่า 251 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้กว่าร้อยละ 98 ถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การเริ่มกลับมาเปิดเที่ยวบินอีกครั้งนี้สายการบินต่างๆ จะมีต้นสูงขึ้นอย่างมากและส่งผลต่อค่าเดินทางของผู้โดยสารเนื่องจากการเว้นระยะห่าง มาตรการรักษาความสะอาดที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น แม้การเช็คอินอัตโนมัติจะช่วยภาระของทั้งสายการบินและผู้เดินทางได้บ้าง แต่เมื่อถึงขั้นตอนการศุลกากรที่ไม่เพียงต้องการเพียงหนังสือเดินทาง แต่อาจต้องการเอกสารรับรองทางการแพทย์ว่าได้ผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 มาแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ ความคับคั่งของการรอคิวที่สนามบินจะนานขึ้นอีกมาก ความจำเป็นในการจองเที่ยวบินแบบเปลี่ยนแปลงเวลาเดินทางได้ (Flexible booking) ในกรณีอาจต้องเลื่อนการเดินทางด้วยเหตุต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติ ความจำเป็นที่จะต้องซื้อกรมธรรม์เพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 อันเนื่องมาจากการเดินทาง นอกจากนี้การปฏิบัติตัวบนเครื่องบินของทั้งผู้โดยสาร และผู้ให้บริการโดยเฉพาะในเส้นทางการบินที่ใช้เวลานาน (Long haul) และมาตรการการกรองอากาศหมุนเวียนภายในเครื่องบินโดยสาย การต้องแสดงเอกสารรับรองการตรวจเชื้อโควิด-19 และกรอกเอกสาร หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR แcode scan) ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดการเดินทาง รวมไปจนถึงมาตรการการกักตัว (Quarantine) อย่างน้อย 15 วันเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศต้นทาง เมื่อคิดถึงขั้นนี้ แม้แต่การเดินทางไปมาภายในภูมิภาคไม่ว่าจะเพื่อสร้างความร่วมมือ การค้า การลงทุน หรือการท่องเที่ยวก็ยังอาจไม่ได้ฟื้นคืนมาในเร็ววันนัก American Hotel & Lodging Association คาดการณ์ว่าอย่างดีที่สุด (Best-case scenario) การเดินทางระหว่างประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ถึงร้อยละ 70 แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ การโดดเดี่ยวระหว่างประเทศคงจะต้องมีต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีมาตรการการข้ามพรมแดนที่ชัดเจน และตราบนั้นประเทศต่างๆ ก็อาจต้องนึกถึงการพึ่งพาตนเอง (Self-sustain) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้