บทความสั้น
วิกฤตขยะพลาสติก ถูกซ้ำเติมโดยโควิด-19
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มิถุนายน 2563

ปัจจุบัน มีสัตว์ทะเลและสัตว์ป่าจำนวนมากที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากขยะพลาสติก คนไทยส่วนใหญ่จึงตระหนักถึงวิกฤตขยะพลาสติกเป็นอย่างดี มาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ 75 แห่งทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นับเป็นก้าวสำคัญของการลดขยะพลาสติกในประเทศ อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่กับบ้าน เพื่อหยุดเชื้อ ช่วยชาติ เป็นเวลากว่าสองเดือน สิ่งที่ตามมา คือ การขยายตัวของธุรกิจจัดส่งอาหารตามบ้าน รวมถึงการสั่งสินค้าออนไลน์จำนวนมหาศาล ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ

​ขยะพลาสติกที่ตกค้างในสภาพแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล สัตว์บกและมนุษย์อย่างมหาศาล เมื่อขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาการสะสมของขยะทะเล จนกลายเป็นมลพิษขยะพลาสติก ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและปะการัง ในแต่ละปี มีนกทะเล 1 ล้านตัวตายจากการกลืนกินพลาสติก สัตว์ทะเลประมาณ 700 สายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเล แม้ว่าพลาสติกจะไม่ย่อยสลาย แต่มันสามารถแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานการพบไมโครพลาสติกในทุกสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ในน้ำทะเล หาดทราย ดินโคลน ใต้มหาสมุทรที่ลึกที่สุด รวมถึงน้ำแข็งในเขตขั้วโลก 

​ด้วยความที่ไมโครพลาสติกมีขนาดอนุภาคเล็ก เบา และลอยน้ำได้จึงแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำได้โดยง่ายและสามารถหลุดรอดจากกระบวนการบำบัดน้ำไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติหรือน้ำประปาเพื่อการบริโภคได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม สะสมในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากอนุภาคไมโครพลาสติกสามารถดูดซับมลสารชนิดอื่นที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำได้ อาทิ โลหะหนัก ดังนั้น การรวมตัวกันของอนุภาคไมโครพลาสติกและมลสารที่มีความเป็นพิษก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย รบกวนระบบฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของยีนและระบบพันธุกรรม รวมไปถึงศักยภาพในการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น

การตายของสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลได้ตอกย้ำถึงปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยจนเกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการลดขยะพลาสติกที่เข้มข้นและจริงจัง จนออกมาเป็นมาตรการงดแจกถุงพลาสติก โดยกำหนดมาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ก้าวต่อไปคือการผลักดันกฎหมายภายใต้ร่างพ.ร.บ. 3R ห้ามใช้พลาสติก 7 ชนิดให้ได้ภายในปีพ.ศ. 2564 และจะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน หลายฝ่ายหวังว่าร่างกฎหมายที่จะขับเคลื่อนควรครอบคลุมขยะชุมชนทุกประเภทเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างบูรณาการ เน้นการป้องกันหรือลดขยะที่ต้นทางก่อน ให้ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลดขยะพลาสติกที่ต้นทางตั้งแต่การผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล และมีส่วนร่วมในการจัดระบบการเรียกคืนหรือการเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์ฯ จากผู้บริโภคเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้อง ให้มีกลไกมัดจำคืนเงิน บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคส่งคืนขยะให้กับผู้ผลิตอีกด้วย

ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความฉบับเต็มได้ในสถานการณ์เด่นเรื่อง “วิกฤตขยะพลาสติกในทะเล ปลุกคนไทยลดขยะพลาสติก” ในรายงานสุขภาพคนไทยฉบับปี 2563


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333