บทความสั้น
ครูทำร้ายเด็กในโรงเรียนกับการรับมือของพ่อแม่
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | สิงหาคม 2563

ครูเป็นบุคคลที่จะคอยปกป้องเด็กแทนพ่อแม่เมื่ออยู่โรงเรียนใช่หรือไม่

​ในช่วงหลายปีมานี้ เราพบข่าวครู หรือครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กหรือกระทำความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ล่าสุดข่าวครูผู้หญิงทำร้ายเด็กในโรงเรียนเอกชนชื่อดังเป็นข่าวไปทั่วประเทศ โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองยอมเสียค่าเทอมราคาแพงเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง ครูพี่เลี้ยงหญิงตามข่าวต้องจำนนด้วยหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับไม่ได้กับพฤติกรรมของครูที่กระทำความรุนแรงกับเด็ก ๆ การกระทำความรุนแรงดังกล่าวไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ในเบื้องต้นเด็ก ๆ ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย มีรอยฟกช้ำต่าง ๆ นอกจากการบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ยังพบความบาดเจ็บทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้เลย เพราะเราไม่รู้เลยว่าผลกระทบทางด้านจิตใจนั้นจะติดตัวเด็ก ๆ ไปอีกนานเท่าใด จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการสอบสวนโรงเรียนและพบว่ามีครูอีกจำนวนหนึ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงครูต่างชาติก็มีการกระทำความรุนแรงกับเด็กเช่นกัน

​สำนวน “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หรือ “ไม้เรียวสร้างคน” อาจจะใช้ในยุคสมัยปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว วิธีการทำโทษเด็กในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปจากการตีด้วยไม้เรียวเป็นการทำโทษด้วยวิธีการอื่นแทน เพื่อลดการกระทำความรุนแรงกับเด็ก เช่น การให้เด็กเข้ามุมเพื่อให้เด็กสงบสติอารมณ์ของตัวเอง แล้วค่อยๆ พูดกับเด็กด้วยเหตุและผลแทน

​ปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ มีทั้ง IQ (Intelligence Quotient) และ EQ (Emotional Quotient) นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมเลี้ยงลูกเชิงบวก และต้องยอมรับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนยอมเสียเงินค่าเล่าเรียนเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง บางแห่งเป็นหลักแสน เพื่อแลกกับคุณภาพของการดูแลเด็กที่ดี

​ครูที่กระทำความรุนแรงกับเด็กหรือทำร้ายเด็ก มักจะขู่ไม่ให้เด็กไปบอกกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าถูกครูทำร้าย ซึ่งทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองกว่าจะทราบเรื่องก็จะพบว่าเด็กถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกทำร้ายเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วซึ่งอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชและการเลี้ยงดูเด็กในเชิงบวก ได้แนะนำว่าการเลี้ยงดูเด็กหรือบุตรหลานสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “ทักษะการสื่อสารเชิงบวก1” โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีการสื่อสารกับบุตรหลานเชิงบวกในทุก ๆ เรื่อง และควรฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ๆ และทักษะการสื่อสารอีกอย่างหนึ่งคือ การตั้งคำถามกับเด็กซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กแนะนำว่าควรตั้งคำถาม “เชิงบวก” การตั้งคำถามกับเด็กไม่ควรเป็นคำถามเชิงลบ ตัวอย่างคำถามเชิงลบ เช่น เหตุการณ์ครูทำร้ายเด็ก เมื่อเด็ก ๆ กลับมาบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าถูกครูทำร้ายหรือลงโทษ แต่การสื่อสารของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อาจจะย้อนถามกลับ เช่น “หนูดื้อใช่ไหม ครูจึงทำโทษ” ซึ่งคำถามดังกล่าวเป็นคำถามเชิงลบที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง อาจทำให้เด็กไม่กล้าที่จะเล่าเรื่องดังกล่าวรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟัง

​พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะลองฝึกฝนการสื่อสารเชิงบวกกับลูกๆ ด้วยการ “หยุดพูด” “ตั้งใจฟังจนจบ” “เปิดใจรับฟัง” และ “ระดมสมองเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา”   

ส่งท้าย สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง อย่าคาดหวังและอย่าแบกความคาดหวังไว้กับบุตรหลานของท่าน ลูกหลานประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุขในสิ่งที่เขาเป็นน่าจะเพียงพอแล้ว     


ภาพประกอบ โดย freepik - www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333